Lady Teacher "นราพร จันทร์โอชา" 9 ปีทำงานเบื้องหลัง "ครูตู้"

เพราะระบบการศึกษาของไทยยังตกอยู่ในสภาพขาดแคลนครูผู้สอน ทำให้ไม่อาจกระจายความรู้สู่เด็กนักเรียนในท้องที่ทุรกันดารได้อย่างทั่วถึง \"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว\" จึงทรงพระราชทานทุนประเดิมจำนวน 50 ล้านบาท ให้นำมาก่อตั้ง \"มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม\" ขึ้นมาในปี 2538 เพื่อถ่ายทอดการเรียนการสอนภายในห้องเรียนของ \"โรงเรียนวังไกลกังวล\" ในฐานะ \"โรงเรียนต้นทาง\" ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนครูทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแคบลง

โดยมี \"ขวัญแก้ว วัชโรทัย\" รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นหัวเรือใหญ่ช่วยขับเคลื่อนงานนับตั้งแต่วันแรกเริ่ม ก่อนจะได้ตัว \"รศ.นราพร จันทร์โอชา\" สตรีหมายเลข 1 ภริยา \"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา\" นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเมืองไทย มาช่วยเหลืองานในตำแหน่งรองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ ของช่วงครึ่งหลังของระยะเวลาดำเนินงานกว่า 19 ปีเต็มที่ผ่านมา
จากวันนั้นจนถึงปีนี้ การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะนอกจากนำเทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัยเข้ามาใช้ รวมทั้งพยายามดึงโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเข้ามาให้มากขึ้นแล้ว ยังได้มีการเซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยโอเรกอน เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาครูผู้สอนอีกด้วย

มีโอกาสพบกับ \"รศ.นราพร จันทร์โอชา\" รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ ซึ่งช่วยเหลืองานของมูลนิธิครูตู้มานานนับ 9 ปี รวมทั้งยังมีบทบาททางสังคมที่ไม่ธรรมดา จึงมีโอกาสได้สอบถามพูดคุย ถึงเรื่องราวการทำงานด้านการศึกษาและความก้าวหน้าของครูตู้ในขณะนี้

\"ความจริงก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ เต็มตัวประมาณ 3 ปี สมัยที่ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่จุฬาฯ ก็ได้เข้ามาช่วยงานของมูลนิธิอยู่บ้างเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เมื่อตัดสินใจลาออกจากจุฬาฯด้วยความคุ้นเคย คุณแก้วขวัญจึงชวนมาช่วยกันทำงานตรงนี้ในด้านพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพราะเป็นการทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และช่วยเหลือการศึกษาไทยที่ยังมีปัญหาอยู่\"

หลังจาก รศ.นราพรเท้าความถึงการเข้ามาทำงานและหน้าที่ในมูลนิธิอย่างคร่าว ๆ แล้ว จึงได้ชี้แจงมุมมองความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ถ้ามองแบบตรงไปตรงมา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในปัจจุบันยังไม่ถือว่าบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เท่าที่ควร เพราะการแจกจ่ายอุปกรณ์รับส่งสัญญาณไปกว่า 3 หมื่นโรงทั่วประเทศ มีเพียง 6 พันกว่าโรงเท่านั้นที่ใช้จริงอย่างต่อเนื่อง

\"ในแง่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต้องถือว่าพัฒนาเป็นอย่างดี เพราะการประเมินคุณภาพตลอดช่วงที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนที่เรียนผ่านครูตู้มีผลการเรียนดีขึ้น ผลการสอบ NT และ O-NET มีคะแนนสูงขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาทางไกล\"

สตรีหมายเลข 1 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา \"กระทรวงศึกษาธิการ\" และ \"สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)\" ได้ทำโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลฯ เข้าสู่โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กเพิ่มอีก 15,000 โรง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯในปี 2558 ส่งผลให้เด็กจำนวนกว่า 1 ล้าน 2 หมื่นคน ได้รับอานิสงส์ได้เรียนในคุณภาพเทียบเท่ากับนักเรียนของโรงเรียนวังไกลกังวลทุกวิชา

\"นอกจากอุปกรณ์การรับส่งสัญญาณแล้ว ยังมีในส่วนของฮาร์ดไดรฟ์ที่ใช้บรรจุหลักสูตรตั้งแต่ ป.1-ม.6 เอาไว้ ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ ร่วมมือกับโครงการสารสนเทศของสมเด็จพระเทพฯทำขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อแก้ปัญหาเวลาเด็กเรียนตามไม่ทันหรือไม่ได้ดูสด ก็สามารถมาเรียนซ่อมเสริมจากเนื้อหาที่บันทึกเอาไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ เรียกได้ว่าเป็นการสอนเสริมหลังเรียนอีกทีก็ได้\"

สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจสำหรับ รศ.นราพร ในการทำงานกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯมานาน เห็นจะการลงพื้นที่โรงเรียนปลายทางแล้วได้พบกับ \"ความกระตือรือร้น\" ในการเรียนของเด็กอย่างแท้จริง แม้ว่าพวกเขาจะเรียนกับครูตู้ที่ไม่อาจโต้ตอบกับนักเรียนได้ในทันทีก็ตาม

\"ภาพที่ได้ไปเห็นจากโรงเรียนปลายทางคือ นักเรียนส่วนใหญ่มักจะแย่งกันยกมือตอบ เมื่อครูตู้ถามนักเรียนต้นทางผ่านทีวี หรือเวลาครูต้นทางบอกให้เขียนบนไวต์บอร์ด นักเรียนปลายจะทางวิ่งออกมาเขียนบนกระดานดำไม่ต่างกัน แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้น รวมทั้งความพยายามในการมีส่วนร่วมในห้องเรียนเป็นอย่างมาก และยังเป็นเหมือนแรงผลักดันในการทำงานนี้ของตนเองและผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคน\"

รศ.นราพรอธิบายว่าการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไม่เพียงแต่สอนนักเรียนปลายทางเท่านั้นแต่ยังมีหลักสูตรอบรมครูต่อท้ายหลังจากการเรียนของเด็กอีกด้วยเพราะต้องทำความเข้าใจว่าโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากจำเป็นต้องให้ครูที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชามาสอนเพราะติดปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ

\"อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของระบบการศึกษาไทย แต่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงว่าเราขาดไปคือการช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งควรจะสอดแทรกเข้าไปในทุกสาระการเรียนรู้ เพราะส่วนตัวมองว่าเราไม่ค่อยเน้นกันเท่าไรนัก โรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการสอนนักเรียนตามคำบอก ตรงนี้ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น\"

ส่วนประเด็นเรื่อง \"ภาษาอังกฤษ\" ที่หลายคนค่อนข้างหนักใจนั้น รศ.นราพรกล่าวว่า ทาง สพฐ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนตัวคิดว่าการพัฒนาเรื่องภาษาหรือรวมถึงปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปคน พัฒนาจากคน โดยเฉพาะครูที่ต้องมีความเข้าใจและมั่นใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ไม่ใช่สอนให้อ่านหรือท่องศัพท์อย่างเดียวเท่านั้น

รศ.นราพรไม่ได้หมายความถึงแค่เรื่องภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะทางมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯยังได้ขอความช่วยเหลือไปยัง สพฐ. เพื่อให้ส่งครูฝีมือดีของแต่ละวิชาแต่ละโรงเรียนมาช่วยสอนยังโรงเรียนต้นแบบ

\"ไม่ได้หมายความว่าครูของโรงเรียนวังไกลกังวลไม่เก่ง แต่บางครั้งบางวิชาก็อาจเทียบไม่ได้กับครูในเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพฯ ดังนั้นถ้าสามารถดึงครูเก่ง ๆ มาสอนได้ก็จะเป็นการดีมาก ซึ่งทาง สพฐ.ก็ได้บอกแนวทางในอนาคตมาว่าอาจจะใช้วิธีให้ครูผลัดเปลี่ยนมาช่วยราชการสักคนละ 1 ภาคการศึกษา ส่วนตัวมองว่าวิธีนี้จะยิ่งช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้มากขึ้น ให้เด็กในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ได้เรียนกับครูเก่ง ๆ ดี ๆ เหมือนกับนักเรียนในกรุงเทพฯ\"

เมื่อวันใดที่การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีระบบรากฐานแข็งแกร่งมากขึ้นรศ.นราพรมีความมั่นใจว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็น่าจะหมดไปจากประเทศไทยได้อย่างสิ้นเชิง



ที่มา:มติชนออนไลน์วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 20:20:29 น



23/11/2557