ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง รับตรงร่วมกันในปีการศึกษา 2559

วันนี้(26 ต.ค.) รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ. วันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง รับตรงร่วมกันในปีการศึกษา 2559 โดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งจะพัฒนาจากข้อสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพิ่มขึ้นอีก 2 วิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์ทั่วไป รวมเป็น 9 วิชา เพื่อรองรับนักเรียนที่จบสายศิลป์ จากเดิมที่จะเน้นเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ โดยหลังจากนี้คณะ/สาขา ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องไปกำหนดสัดส่วนและองค์ประกอบที่จะใช้ในการคัดเลือกและประกาศให้นักเรียนทราบ ทั้งนี้นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา แต่สามารถเลือกสอบเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ในการยื่นเข้าเรียนต่อในคณะ/สาขาที่ต้องการเท่านั้น

รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การรับตรงร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะคะแนนข้อสอบกลาง 9 วิชา แต่มหาวิทยาลัยยังสามารถใช้คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ แกต และคะแนนการทดสอบความถนัดทางวิชาวิชีพ/ วิชาการ หรือ แพต และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อได้เช่นเดิม เนื่องจากที่ผ่านมา ทปอ. ได้ขยับเวลาการทดสอบต่าง ๆ ให้ใกล้กันแล้ว โดย สอบแกต/แพต ครั้งที่ 1ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และการจัดสอบวิชาสามัญ 9วิชาเดือนมกราคม และการสอบแกต/แพต ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม ซึ่งนักเรียนจะสามารถนำคะแนนทั้งหมดไปใช้ยื่นในการรับตรงร่วมกันผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(สอท.) โดยหากนักเรียนได้ในคณะ/สาขาที่เลือกรับตรงแล้วแต่ไม่ต้องการเรียนและต้องการ เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น ก็ต้องสละสิทธิ์จากการับตรงก่อน ส่วนระบบโควตา และโครงการพิเศษต่าง ๆ ผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม

“เชื่อว่าระบบนี้จะทำให้ระบบการรับนิสิต นักศึกษามีความสมบูรณ์ขึ้น และนักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกต่อไป ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะต่อไปนักเรียนจะสอบเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าศึกษาต่อไปทั้งระบบการรับตรงและแอดมิชชั่นได้”รศ.ดร.ประดิษฐ์กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า มศว จะนำร่องรับตรงร่วมกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยเมื่อนักเรียนสอบผ่านข้อเขียนมาแล้วในขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ มศว จะมีข้อสอบย่อย เพื่อใช้ทดสอบความสมารถในกาปฏิบัติอีกครั้ง ไม่ใช่มานั่งสัมภาษณ์อย่างเดียว เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนมีความสามารถที่จะเรียนต่อในสาขาที่เลือกเรียนจริง ๆ เช่น การวาดภาพ การแสดง เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 มหาวิทยาลัยประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ศิลปากร ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.สุโขทัยธรรมธิราช ม.รามคำแหง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร ม.พะเยา ม.แม่ฟ้าหลวง ม.แม่โจ้ ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหาสารคาม ม.นครพนม ม.อุบลราชธานี ม.ทักษิณ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.วลัยลักษณ์ และ ม.สงขลานครินทร์



ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ 26 ตุลาคม 2557 เวลา 16:07 น.



27/10/2557