นำร่องกระจายอำนาจการบริหารให้ 300 โรงเรียน ใน 20 เขตพื้นที่การศึกษา

วันนี้ (18 ธ.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฎิรูปการศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบการทำงานการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาล และมีการเสนอกรอบการทำงานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องประสานงานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งได้เห็นชอบกรอบการทำงานในระยะเวลา 1 ปี โดยตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ขึ้นมา 7 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายการศึกษา คณะอนุกรรมการงบประมาณการศึกษา คณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจ คณะอนุกรรมการปฎิรูปหลักสูตร คณะอนุกรรมการการผลิตครูและพัฒนาครู ส่วนการลงรายละเอียดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.ยังไม่ได้ข้อสรุป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่าตามการปฎิรูปการศึกษารอบใหม่นี้จะปฎิรูปจากภาคปฎิบัติ ซึ่งตนคิดว่ามีความสำคัญมากกว่าการปรับโครงสร้างกระทรวง เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับนักเรียน จะปฏิรูปจากส่วนล่างขึ้นบน คือ ปฎิรูปจากนักเรียน ห้องเรียน ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยในเดือนมกราคม2558นี้ จะมีการนำร่องกระจายอำนาจการบริหารจัดการในหลายๆ เรื่องไปยังโรงเรียน 300 กว่าแห่ง ใน 20 เขตพื้นที่การศึกษา เช่น ให้อำนาจโรงเรียนจัดหาครูและบุคลากรได้เอง ให้อำนาจเรื่องงบประมาณ ให้อำนาจในการหารือกับภาคประชาชน เพื่อกำหนดหลักสูตรบางส่วนให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“ ส่วนข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด เพื่อดูแลการศึกษาในภาพรวมนั้น ยังไม่ได้คุยกัน แต่ที่มีการเสนอกันมาน่าจะเป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีหน่วยงานระดับชาติที่มาทำหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการทำงานการศึกษา จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งหน่วยงานระดับชาติมาดูแลการศึกษาภาพรวม” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 18 ธันวาคม 2557 เวลา 14:00 น.



18/12/2557