ทำไมฟินแลนด์ถึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆในยุโรปตอนบน มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน (น้อยกว่ากรุงเทพซะอีก) ซึ่งคนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อเสียงของประเทศนี้นัก แต่ถ้าบอกว่าประเทศนี้แหละ คือต้นกำเนิดของ Nokia มือถือที่ (เคย) ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่ถือกำเนิดในฟินแลนด์ ซึ่งสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้เริ่มต้นมาจากพื้นฐานด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเยี่ยม มีความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจน้อยมาก เพราะมีการเก็บภาษีสูงและมีการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาคุณภาพประชากรที่นี่มีคุณภาพ

ในการสำรวจประเมินผลดัชนีทางการศึกษาล่าสุด โดยองค์กรความร่วมมือทางเศรฐกิจและพัฒนา โดยการจัดอันดับนี้ใช้รูปแบบการวัดความสามารถในการแก้ปัญหา (ไม่ใช่การทำข้อสอบ) และการอ่านเขียน (ภาษาของตนเอง) ที่ชื่อ PISA (Program for International Student Assessment) ผลคือ นักเรียนของฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น \"นักเรียนที่มีคุณภาพที่สุดในโลก\" ประเมินจากนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับของนักเรียนจำนวน 65 ประเทศ


สิ่งที่ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์แตกต่างจากประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะบ้านเรา) มีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ

โรงเรียนอนุบาลไม่สำคัญเท่าเวลาจากครอบครัว
ที่ฟินแลนด์จะให้เด็กเรียนเมื่ออายุ 6-7 ขวบ (ซึ่งที่บ้านเรานี่คือวัยเรียนประถมแล้ว) ที่นั่นไม่เน้นโรงเรียนอนุบาล แต่อยากให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่าครอบครัวสามารถให้ทั้งความรู้และความรัก ความเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามให้เด็กได้ดีกว่าโรงเรียนอนุบาล ในขณะที่บ้านเราแม้แต่โรงเรียนอนุบาลยังต้องแย่งกันเข้าเรียน และพ่อแม่อยากรีบส่งลูกๆเข้าอนุบาล (หรือแม้แต่เตรียมอนุบาล) เพราะไม่มีเวลาดูแลเด็กๆด้วยตัวเอง ซึ่งฟินแลนด์ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานี้ ฟินแลนด์ก็มีการเปิดรับนักเรียนตั้งแต่วัยเด็ก 8 เดือน - 5 ปี เช่นกัน เรียกว่า Daycare โดยที่ Daycare นั้นจะต้องมีสนามเด็กเล่นให้เด็กใช้วิ่งเล่นโดยที่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปเป็นเพื่อนเล่นได้ โดยเปิดให้บริการฟรี แต้ถ้าพ่อแม่คนไหนไม่ต้องการส่งลูกไปที่ Daycare ก็สามารถที่จะจัดบ้านตัวเองเป็น Daycare ได้และทางเทศบาลเมืองจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนให้ด้วย!! เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองนั่นเองค่ะ และก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะรับเงินมาแล้วก็เลี้ยงลูกแบบทิ้งๆขว้างๆได้นะคะ เพราะทางเทศบาลเค้าจะมีการสุ่มตรวจอยู่เสมอว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกได้เหมาะสมหรือเปล่าค่ะ

เรียนมากไปใช่ว่าจะดี เด็กควรมีเวลาทำในสิ่งที่สนใจ
เด็กในวัยประถมศึกษาที่ฟินแลนด์ จะเรียนไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะเค้าเชื่อว่าเด็กวัยนี้ควรจะมีเวลาทำในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจมากกว่า ในขณะที่เด็กไทยเรียนกันเช้ายันเย็น แล้วยังมีต่อเรียนพิเศษกันอีกในตอนค่ำ (อาจจะเพราะผู้ปกครองบางคนทำงานเลิกดึก ไม่มีเวลามารับลูกๆ ก็ส่งให้ลูกเรียนพิเศษต่อไปก็มี) ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และเกิดความรู้สึกแย่ต่อการเรียนได้


จำนวนเด็กในชั้นเรียนน้อย เพื่อการดูแลทั่วถึง
ห้องเรียนที่ฟินแลนดื จะกำหนดให้มีนักเรียนห้องละ 12 คน สูงสุดไม่เกิน 20 คน ยิ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็จะยิ่งจำกัดจำนวนเด็กในห้องให้น้อยลง (ซึ่งหลักการนี้จะคล้ายกับโรงเรียนสอนภาษาในประเทศอังกฤษที่ได้รับการรับรอง Highly Trusted) เพราะที่ฟินแลนด์จะเน้นการพัฒนาคน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้และการดำรงชีวิต ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน การดูแลรายบุคคลจึงเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ ในขณะที่บ้านเรา โรงเรียนยิ่งดัง ยิ่งรับนักเรียนมาก (โรงเรียนที่แอดมินจบมา มีนักเรียนมากกว่า 3 พันคน และมีนักเรียนห้องละ 50 คน) และการเรียนการสอนจะปลูกฝังให้นักเรียนมีค่านิยมเดียวกันหมด เช่น ต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร โดยที่ไม่พยายามพัฒนาและสนับสุนศักยภาพที่เหมาะสมกับบุคคล

เพราะการศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน ที่นี่จึงไม่มีเกรดเฉลี่ย
ที่ฟินแลนด์มองว่าการเรียนคือการพัฒนาแต่ละบุคคล ไม่ใช่การแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่มีการให้เกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจหรือความอับอายให้แก่เด็ก แต่เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่า

ไม่ใช้ข้อสอบกลางในการวัดระดับ
เพราะเขาเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีจุดประสงค์และเป้าหมายในการให้การศึกษาแก่นักเรียนแตกต่างกัน ฟินแลนด์จึงไม่ใช้ข้อสอบมาตรฐานในการวัดผลนักเรียน (ซึ่งข้อนี้สามารถทำได้ เมื่อโรงเรียนมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ) ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ใช้ข้อสอบกลางในการวัดผลนักเรียน เช่น O-Net, A-Net เป็นต้น


การบริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ
ที่ฟินแลนด์จะใช้การจ้างผู้อำนวยการมาบริหารโรงเรียน และให้กรรมการโรงเรียนดูแล ถ้าผลงานไม่ดีก็เชิญออกได้ เขาไม่ได้ใช้ระบบราชการ หรืออายุราชการในการคัดเลือกคนมาบริหาร ไม่ได้เลือกจากอาจารย์ในโรงเรียน แต่ใช้การคัดเลือกคนที่มีความสามารถในการบริหารจริงๆ เพราะเชื่อว่าการสอนเก่ง กับการบริหารเก่งนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้โรงเรียนเขามีคุณภาพ

ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีเกียรติ
ที่ฟินแลนดื ครูของเขาทุกคนตั้งใจอยากเป็นครู คนที่เก่งที่สุดของประเทศจะแข่งกันเป็นครู เพราะครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากแพทย์ หรือ ทนายความ ระบบการศึกษาในฟินแลนด์กำหนดให้อาจารย์ประจำชั้นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนอาจารย์ประจำวิชาจะต้องจบการศึกษาในคณะวิชาที่สอนก่่อนและจึงมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ และยังมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับครูการศึกษาพิเศษและครูแนะแนวต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษและการแนะแนวอีกด้วย

โดยกฎหมายฟินแลนด์กำหนดให้เด็กทุกคนเรียนการศึกษาภาคบังคับถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 9) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบ 85% และพอจบมัธยมต้นแล้ว แล้ว ก็จะจบการศึกษาภาคบังคับ ใครไม่อยากเรียนต่อก็ได้ ส่วนใครที่อยากเรียนต่อ รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้ผู้เรียนเกือบทั้งหมด ยกเว้นค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์การเรียน ก็จะสามารถแบ่งไปได้ 2 ทางคือ
โรงเรียนมัธยมปลาย คือเรียนต่อไปเกรด 10-12 เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสายวิชาการ เช่น แพทยศาสตร์ ครุศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น
โรงเรียนสายอาชีพ จะคล้ายๆ ปวช. บ้านเรา เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง
และเมื่อเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมปลายหรือโรงเรียนสายอาชีพแล้ว ก็จะแยกไปได้อีก 2 ทางค่ะ คือ มหาวิทยาลัย และ โพลีเทคนิค ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยของฟินแลนด์จะไม่ต่างจากในบ้านเรา พอเรียนจบปริญญาตรี ก็ต่อปริญญาโทและเอกได้ ส่วนโพลีเทคนิคนั้น จะคล้ายๆ ปวส. ของเมืองไทยแต่จะใช้เวลาเรียน 3-4 ปี ปัจจุบันฟินแลนด์มีจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นของรัฐประมาณ 20 แห่ง และมีจำนวนโพลีเทคนิคประมาณ 30 แห่งที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เทศบาล และเอกชนค่ะ

เกร็ดน่ารู้เพิ่มเติม
ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากที่สุดในโลก
รายการต่างประเทศที่เข้ามาฉายในช่องทีวีของฟินแลนด์ มักไม่ค่อยมีการพากย์เสียงภาษาฟินแลนด์ จะยังคงพูดภาษาเดิมนั้นๆ แต่จะขึ้นซับไตเติ้ลด้านล่างให้อ่านแทน
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยมากถึงมากที่สุด
และนี่ก็คือระบบการศึกษาของ ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลกค่ะ



ที่มา:
http://www.adviceforyou.co.th/articles/565-finland-education/






28/01/2558