ประวัติ

โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดนราธิวาส กองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ในพื้นที่ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พื้นที่ที่ตั้งของโรงเรียนได้รับการโอนมาจากโรงเรียนบ้านสุเป๊ะ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 50 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านตำบลเรียงที่ได้สละเงินครัวเรือนละ 30 บาท และสละแรงงานเพื่อการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 1 หลัง เปิดทำการสอนวันแรกในวันที่ 8 พฤษภาคม 2523 มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวน 24 คน โดยมี นายสมชาย แสงสุวรรณ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนตันหยงมัส เป็นครูใหญ่ บุคลากรประกอบด้วย ครู 3 คน และนักการภารโรงจำนวน 1 คน ต่อมาได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาใน การจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นอีก 1 หลัง บ้านพักครู โต๊ะ เก้าอี้ และห้องส้วมจำนวน 1 หลัง
ปีการศึกษา 2525 มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 คน รวมนักเรียนทั้งสิ้น 37 คน จากการที่มีจำนวนนักเรียนน้อย ทางกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจึงมีหนังสือเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขอให้ยุบโรงเรียนแต่ท่านไม่เห็นด้วย จึงได้ดำเนินการสอนตามปกติและจัดสรรบ้านพักนักการภารโรง 1 หลัง ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2525 กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งย้าย นายสมชาย แสงสุวรรณ ไปช่วยราชการที่โรงเรียนนราธิวาส และได้แต่งตั้งให้นายมะนุง แลโซะ อาจารย์ 1 โรงเรียนนราธิวาส มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ และโรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างอาคารเรียนถาวรแบบ 208 จำนวน 1 หลัง บ้านพักครู 1 หลัง
ปีการศึกษา 2527 นายมะนุง แลโซะ ครูใหญ่รับการโอนตำแหน่งราชการไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้แต่งตั้งนายไพรัช แสงทอง อาจารย์ 1 โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ และโรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนปรับปรุงขนาดเล็ก
ปีการศึกษา 2533 โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม (มพชส.) และจัดทำเรือนเพาะชำกล้วยไม้ขึ้นตามโครงการ มพชส.
ปีการศึกษา 2534 ได้เข้าร่วมโครงการขยายโอกาสโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กรมสามัญศึกษา (ค.อมต.สศ.) และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2534 กรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งย้าย นายไพรัช แสงทอง อาจารย์ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายสนอง รามวงศ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาเจาะ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ แทน
ปีการศึกษา 2535 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถบัสจำนวน 1 คัน เพื่อรับ – ส่งนักเรียน ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันเป็นเงิน 10,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน และได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนเป็นจำนวน 70,000 บาท เพื่อให้นักเรียนยืมไปประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียน
ปีการศึกษา 2536 ได้เข้าโครงการโรงเรียนเพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม (รพชส.) และผู้บริหารโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บริหารโรงเรียนดีเด่นในถิ่นทุรกันดาร ได้รับโล่จากมูลนิธิผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ม.บ.ม.ท.)
ปีการศึกษา 2537 ได้รับงบประมาณในการสร้างบ้านพักนักการภารโรง 1 หลัง
ปีการศึกษา 2538 ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การสอนในหมวด
วิชาคหกรรมและหมวดวิชาการงานอาชีพ และกรมประมงได้จัดสรรงบประมาณในการขุดบ่อเลี้ยงปลาจำนวน 1 บ่อ
ปีการศึกษา 2539 ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียน แบบ 108 ล จำนวน 1 หลัง ได้เข้าโครงการการปฏิรูปการศึกษา และได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์หมวดวิชาต่าง ๆ เป็นเงิน 499,900 บาท
ปีการศึกษา 2540 ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานที่จำนวน 400,000 บาท
ปีการศึกษา 2541 ได้เปิดทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเปิดสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นปีแรก โปรแกรมคณิตศาสตร์ – ภาษาอังกฤษ มีนักเรียนจำนวน 13 คน ชาย 8 คน หญิง 5 คน
ปีการศึกษา 2542 ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการ อพป. เพื่อเปิดทำการสอนวิชาชีพอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยเปิดสอนวิชาช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2542 นายสนอง รามวงศ์ อาจารย์ใหญ่ ได้เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ทางกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายบวรศักดิ์ มเหสักขะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนราสิกขาลัย มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์
ปีการศึกษา 2543 ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการ อพป. โดยเปิดสอนช่างตัดเย็บเสื้อผ้าและวิชาอาหาร ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เป็นเงิน 268,000 บาท ได้รับงบประมาณค่าสอนวิชาศาสนาอิสลามเพิ่มเติม และกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งโยกย้าย นายบวรศักดิ์ มเหสักขะกุล อาจารย์ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนไม้แก่น กิตติวิทย์ จังหวัดปัตตานี และแต่งตั้ง นายเจะอับดุบเลาะ โตะแอ อาจารย์ใหญ่สะนอพิทยาคม มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์
ปีการศึกษา 2544 ได้รับเงินสนับสนุนโครงการ อพป. ได้ทำการเปิดสอนวิชาอาหารและโครงการเลี้ยงเป็ด ในปีนี้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 68 คน และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 23 คน นับเป็นปีที่มีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียน
ปีการศึกษา 2547 ได้มีคำสั่งโยกย้าย นายเจ๊ะอับดุลเลาะ โต๊ะแอ อาจารย์ ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนไม้แก่นกิตติวิทย์ จังหวัดปัตตานี และแต่งตั้ง นายจำนงค์ แสงหวัง รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ จนกระทั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นางสาวจันทนา จินะราช มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์
ปีการศึกษา 2548 ได้มีคำสั่งโยกย้าย นางสาวจันทนา จินะราช ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย และได้แต่งตั้ง นายสัมพันธ์ นิบือซา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ในปีนี้โรงเรียนได้เข้าโครงการโรงเรียนสองระบบ(สองหลักสูตร)
ปีการศึกษา 2549 โรงเรียนได้เข้าอยู่ในโครงการห้องสมุดมีชีวิต ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 และ มีคำสั่งแต่งตั้งนายนรินทร์ อูเซ็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไอร์โซ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 2 มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน
ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียน โดยเข้าชมการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องอนามัยโรงเรียน ห้องสหกรณ์ และห้องสมุดของโรงเรียน นอกจากนี้ทรงปลูกต้นมังคุดพระราชทานแด่โรงเรียน จำนวน 1 ต้น อันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มสู่คณะครูและนักเรียนในโรงเรียน ตลอดจนชุมชนในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ในปีนี้ โรงเรียนได้เข้าโครงการ
ต่าง ๆ ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 ทั้งโครงการต่อเนื่องเช่น โครงการห้องสมุด มีชีวิต โครงการครอบครัวอุปถัมภ์ โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการสร้างรั้วโรงเรียน
ปีการศึกษา 2551 สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียนปีที่ผ่านมา และได้ทรงปลูกต้นมังคุดพระราชทานแด่โรงเรียน จำนวน 1 ต้น ทางโรงเรียนได้ดำเนินการจัดทำสวนมังคุดขึ้น โดยคณะครูและนักเรียนร่วมกันปลูกต้นมังคุดคนละ 1 ต้น นอกจากนี้ในปีนี้ โรงเรียนได้เข้าโครงการต่างๆ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ เช่น โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย โครงการครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาเครือข่ายสหพัฒนา ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมดในเครือข่าย จำนวน 13 โรงมาร่วมกิจกรรม
ปัจจุบันโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 155 คน มีบุคลากรทั้งหมด 30 คน เป็นผู้บริหารและข้าราชการครู 15 คน พนักงานราชการ 8 คน วิทยากรสอนศาสนา 1 คน ครูสอนอิสลามศึกษา 3 คนพนักงานขับรถ 1 คน และนักการภารโรง 2 คน โดยมีนายเปรม ทองนะ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์

วิสัยทัศน์

“โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์มีการบริหารจัดการที่ดีและมีคุณภาพ วิชาการดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม นำสู่การปฏิบัติ ปลอดยาเสพติด ใกล้ชิดชุมชน ภูมิทัศน์น่าอยู่ ครูทุกคนได้รับการพัฒนาสู่มืออาชีพ ’’

คำขวัญ

“มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม กิจกรรมเยี่ยม”

พันธกิจ

1. ส่งเสริมให้มีการบริหารการศึกษาแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นการกระจายอำนาจ การสร้างเครือข่าย และการนำเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีคุณธรรม และจริยธรรมที่พึงประสงค์
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีทักษะการกีฬา และมุ่งพัฒนาสู่สากล
5. จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูได้รับการพัฒนา
8. ให้ความรู้ ดูแล ป้องกัน แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด

เป้าหมาย

1. โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์มีความเข้มแข็งในการบริหารและจัดการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจการมีส่วนร่วม และการสร้างระบบเครือข่ายทุกองค์กร
2. นักเรียนมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. นักเรียนได้รับการฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ
4. นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
5. ครูทุกคนสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรได้หลากหลายและตรงตามเนื้อหาวิชา
6. ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
7. นักเรียนมีทักษะการกีฬา สามารถพัฒนาสู่สากล
8. นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงอันตรายของยาเสพติด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ยาเสพติด

อักษรย่อ

ร.อ.