สกศ.สรุปร่างหลักเกณฑ์ให้โครงการคุรุทายาทรุ่นใหม่ ให้ทุนเรียน2 หลักสูตร

วันนี้ (26 มี.ค.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการคุรุทายาท ว่า สกศ. ได้จัดทำหลักการเบื้องต้นโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นโครงการผลิตครูตั้งแต่ปีการศึกษา 2558-2572 เสร็จแล้ว โดยหลักสูตรที่ใช้ดำเนินการ มี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 มีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาชีพครู และได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิตปริญญาทางการศึกษา หลักสูตร 5 ปีของคุรุสภา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด และ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู 1 ปี รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชา ยกเว้นวิชาชีพครู เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาชีพครู และได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิตประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด สำหรับสาขาวิชาที่จะผลิต ได้แก่ สาขาวิชาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ศิลปะ ดนตรี และสาขาวิชาชีพ เช่น ก่อสร้าง ไฟฟ้า เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ มีเงื่อนไขผูกพัน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การให้ทุนการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมระหว่างเรียนและประกันการมีงาน เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาและพื้นที่ขาดแคลน ตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด โดนบรรจุเข้ารับราชการครู ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับทุนรูปแบบนี้จะเป็นนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจ พื้นที่ที่ขาดแคลนครูมาก พื้นที่ชายขอบ พื้นที่ในเขตพิเศษเฉพาะกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดปัญหาขาดครูในพื้นที่ที่ไม่มีใครอยากไปเป็นครู อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาโยกย้ายภายหลังการบรรจุเข้ารับราชการด้วย และ 2.ประกันการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาและพื้นที่ขาดแคลนตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด โดยการบรรจุเข้ารับราชการครู ในสถานศึกษาที่ขาดแคลนครูในสังกัดสพฐ.และสอศ.ตามภูมิลำเนาของนักศึกษา หรือตามที่หน่วยงานผู้ใช้งานกำหนด

“สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นฝ่ายผลิต นั้น จะมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาฝ่ายผลิต ว่า ควรเป็นสถาบันใด ผลิตในส่วนไหน และจำนวนเท่าไหร่ อีกทั้งการทำงานควบคู่ไปกับโครงการนี้ คือ การปรับหลักสูตรการผลิตครู เพราะหลายฝ่ายอยากเห็นครูประถมศึกษาสอนข้ามวิชาได้ ดังนั้น ต่อไปหลักสูตรวิชาเอกประถมศึกษาจะกลับเข้ามาอยู่ในโครงการนี้แทนหลักสูตรที่ผลิตตามสาขาวิชาเอก ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งหากครูประถมศึกษาสามารถสอนข้ามรายวิชาก็เท่ากับว่าเราสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้ เพราะไม่จำเป็นต้องหาครูประถมมาสอนให้ครบถึง 8 กลุ่มสาระวิชาหลัก” รศ.ดร.พินิติ กล่าว.



ที่มา:เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 26 มีนาคม 2558 เวลา 15:00 น.



28/03/2558