สทศ.ลดสอบโอเน็ตเหลือ 5 วิชาหลัก แบ่งสังคมสอบ 2 ส่วน ให้โรงเรียนมีส่วน

วันที่ 31 มกราคม ที่สนามสอบโรงเรียนราชวินิต นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เดินทางตรวจเยี่ยมการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2557 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอบวันที่ 31 มกราคม ประกาศผลสอบวันที่ 15 มีนาคม และมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ ประกาศผลสอบวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งปีนี้มีนักเรียนป. 6 มีสิทธิ์สอบทั้งหมด 795,372 คน ม.3 จำนวน 717,962 คน โดยมีนายบัณฑิต พัดเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตให้การต้อนรับ

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่ได้รับรายงานการทุจริต โดยในวันแรกระดับชั้นป.6 สอบทั้งหมด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา และพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ส่วนม.3 สอบ 3 กลุ่มสาระฯ คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ที่ผ่านศธ.ตั้งเป้าว่าในปีการศึกษา 2561 คะแนนการโอเน็ตใน 5 วิชาหลักจะต้องไม่ต่ำกว่า 50%


เท่าที่ดูขณะนี้ยังเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเพราะคะแนนภาพรวมยังไม่ถึง30% เชื่อว่าการเพิ่มคะแนนโอเน็ตคงไม่สามารถเพิ่มถึง 50% ได้ทันที ต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ควรไปปรับลดเป้าหมาย และควรตั้งมาตรฐานให้สูง เพราะประเทศที่มีการพัฒนาด้านการศึกษาที่ดีจะตั้งเป้าหมายให้สูง และพยายามก้าวไปถึงจุดนั้นให้ได้

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการศธ. มอบให้สทศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือปรับลดการสอบโอเน็ตลงนั้น ทุกฝ่ายมีมติร่วมกันว่าควรจะปรับลดการสอบโอเน็ตจากเดิมทั้งหมด 8 กลุ่มสาระฯ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาฯ โดยใน 4 กลุ่มสาระฯแรก สทศ.จะเป็นผู้ออกข้อสอบตามเดิม ส่วนกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา จะแบ่งการสอบเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็นการวัดความรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาจจะเป็นการวัดความจำ อาทิ ประเทศไทยมีกี่จังหวัด รวมทั้งจะวัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คำถามจะเป็นในรูปแบบให้เด็กคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การถามที่ใช้ความจำ ซึ่งส่วนนี้สทศ.จะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง ส่วนที่ 2 เป็นการสอบภาคปฏิบัติในวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้ทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นต้องให้โรงเรียนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กเป็นผู้ออกข้อสอบเอง

“การปรับลดครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกข้อสอบด้วย แต่ก็ยังมีข้อกังวลว่า หากให้เรียนจัดสอบเอง จะมีการช่วยเหลือเด็กเพื่อให้ได้คะแนนดี การสอบก็จะไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นสพฐ.ก็จะต้องไปหาวิธีการประเมินเพื่อให้การจัดสอบในส่วนนี้ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ.กล่าวและว่าอย่างไรก็ขณะนี้สทศ.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการศธ.พิจารณาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมศธ.ครั้งต่อไปหากที่ประชุมเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที

นายสัมพันธ์กล่าวว่าการปรับลดการสอบโอเน็ตครั้งนี้ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ซึ่งใช้คะแนนโอเน็ต 8 กลุ่มสาระฯ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์ด้วย 30% หากปรับลดเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ คะแนนจะไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ จึงต้องไปหารือกับทปอ.ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการปรับลดครั้งนี้ เพราะตามหลักการ หากทปอ.จะปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในการแอดมิสชั่นส์จะต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี เพื่อให้เด็กได้เตรียมความพร้อม

นายกมล กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำงานร่วมกับสทศ.ในการเตรียมพร้อมเพื่อเพิ่มคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ซึ่งการสอบในครั้งนี้จะทำให้รู้จุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละพื้นที่ เพื่อจะได้ไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนให้ดี และเพิ่มคะแนนโอเน็ตให้ได้ตามเป้าหมาย


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 15:20:04 น



31/01/2558