อนิจจา..การศึกษา

อนิจจา [อะนิด] อ. คำที่เปล่งออกมาแสดงความสงสารสังเวช เป็นต้น อนิจจา มาจากคำว่า \"อนิจจัง\" ซึ่งเมื่อเปิดพจนานุกรมเล่มเดียวกันก็จะพบกับความหมายว่า อนิจจัง หมายถึง ว. ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน, เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.

ในห้วงเวลานี้ครูหลายๆ คนคงเปล่งคำอุทานคำว่า อนิจจา วันละหลายๆ ครั้งเช่นเดียวกับผู้เขียน เพราะรู้สึกสงสารสังเวชระบบการศึกษาของประเทศไทยเราที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน

อันที่จริงทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งพระไตรลักษณ์ข้อที่ 1 อนิจจัง กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เรื่องของการจัดการศึกษาก็เช่นเดียวกันไม่เที่ยง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นหลักสูตรที่ต้องมีความเป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง

\"แต่...รู้สึกว่าช่วงนี้การศึกษาไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเหลือเกิน ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องเพิ่มวิชาหน้าที่พลเมือง (ซึ่งแต่ก่อนมีแล้วก็หายไปแล้วก็กำลังจะมีใหม่) แต่จะให้ลดเวลาเรียนลง เพราะว่าเด็กเรียนเยอะเกินไป ตกลงเอาอย่างไรกันแน่ จะเพิ่มวิชาเรียน แต่จะให้ลดเวลาเรียน\"

ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียนตามตรงว่าโดยหลักการแล้วเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง วิชาหน้าที่พลเมืองมีสำคัญมาก นักเรียนซึ่งเป็นพลเมืองคนหนึ่งจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และวิชานี้เหมาะที่จะเรียน เพราะเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมไทย ส่วนเรื่องปรับลดเวลาเรียน ผู้เขียนก็เห็นด้วย เพราะโดยหลักการแล้วเวลาที่ว่างนั้น นักเรียนจะได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนตามความสนใจ

ผู้เขียนเห็นด้วยโดยหลักการ แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเมื่อนำเอาหลักการไปสู่การปฏิบัติแล้ว มันจะดีเหมือนที่คิดไว้หรือเปล่า ในเรื่องของการเพิ่มวิชาหน้าที่พลเมืองนั้นผู้เขียนไม่ห่วง ห่วงแต่เรื่องลดเวลาเรียน เมื่อลดเวลาเรียนได้จริงแล้ว แล้วนักเรียนจะเอาเวลาว่างนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะผู้เขียนไม่แน่ใจกับความคิดของนักเรียน เกรงว่าเมื่อลดเวลาเรียนลงแล้ว นักเรียนจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไร้สาระ....

และการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่มีข่าวการรับจ้างทำการบ้านผ่าน facebook ซึ่งสร้างความฮือฮา และเป็นกระแสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันได้สักพัก คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้การบ้านนักเรียน ลงนามโดย \"นายกมล รอดคล้าย\" เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ให้ครูมอบหมายการบ้านให้เหมาะสม ไม่ยากเกินไป ไม่มากเกินไป ควรให้งานกลุ่ม 2.ให้ผู้บริหาร (ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ) นิเทศติดตามการสอน และการให้การบ้านของครูว่าเหมาะสมหรือไม่ และหากพบนักเรียนลอก/จ้าง ให้ลงโทษตามระเบียบ 3.ให้โรงเรียนจัดสอนเสริมนอกเวลาเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และ 4.ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากำชับผู้อำนวยการเรื่องการให้การบ้านอย่างเคร่งครัด

\"ก็จริงครับ ครูบางท่านก็ให้การบ้านมากจนเกินไป (นักเรียนแอบบ่นให้ฟัง) แต่ก็เป็นรายกรณีไป ไม่ใช่ทั้งหมด การบ้านคือภาระงานที่จะช่วยพัฒนาความรู้ และทักษะของนักเรียน เป็นการต่อยอดจากในห้องเรียน เป็นการฝึกฝนให้มีความชำนาญ ที่สำคัญผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ และทักษะที่ได้จากการบ้านนั้นคือความรับผิดชอบ\"

เรื่องของการให้การบ้าน ในปี 2554 ตอนที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 5 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติการสอน หรือในอดีตเรียกว่า \"ฝึกสอน\" ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น (ขออนุญาตพาดพิง) ณ ที่โรงเรียนแห่งนั้นเป็นโรงเรียนที่มีระบบการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมในทุกๆ เรื่อง รวมทั้ง เรื่องการให้การบ้าน

ก่อนเปิดเทอม คุณครูแต่ละระดับชั้นจะมาประชุมกัน เช่น ระดับชั้น ม.5 ครูที่สอน ม.5 ทุกวิชาจะมาประชุมกันเพื่อคุยกันเรื่องการให้การบ้าน โดยปกติแล้วแต่ละวิชาในแต่ละเทอมก็จะมีชิ้นงานสำคัญ คณะครูก็จะมาคุยกัน แบ่งเวลากันว่า สัปดาห์นี้กำหนดส่งงานวิชานี้ สัปดาห์ที่สองกำหนดส่งวิชานี้ ไล่ไปจนสัปดาห์สุดท้ายว่าส่งงานวิชาอะไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ครูสั่งการบ้านทับซ้อนเวลากัน ซึ่งวิธีการนี้ช่วยทำให้นักเรียนมีเวลาในการทำการบ้าน และการทำการบ้านของนักเรียนก็จะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เมื่อประชุมกันเสร็จก็จะทำเป็นเอกสารแจกนักเรียนทุกคนในตอนเปิดเทอม ส่งผลดีทั้งต่อนักเรียน และต่อครูผู้สอน

\"วิธีการของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนนี้ เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาก สามารถนำไปใช้ได้จริง มีความเป็นรูปธรรมกว่าแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐน (สพฐ.) ผู้เขียนอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง คุณครูทุกท่าน ได้ลองศึกษา และนำแนวปฏิบัติของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทโรงเรียนของตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการบ้านอีกต่อไป\"

(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2557)



21/12/2557