ง่ายๆ กล้วยๆ ปฏิรูปการศึกษาไทย

การศึกษาขั้นพื้นฐานคือฐานรากที่จะรองรับการศึกษาระดับสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ คุณภาพ การศึกษาไทยที่ตกต่ำแล้วตกต่ำอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการศึกษาที่ผิดพลาดในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนสมัยเป็นเด็กมัธยมศึกษาเรียนอยู่บ้านนอกต่างจังหวัด ผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาก Top ten ของโรงเรียน แต่พอสอบแข่งขันเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ เทอมแรกที่ตั้งใจว่าจะทำเกรดให้สูงครองอันดับต้นๆ ให้ได้ แต่พอผลการเรียนเทอมแรกออกมาตกลงไปอยู่ในระดับบ๋วยสุดของชั้น ตกใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าตนเองเรียนแย่ขนาดนั้น หรือโง่ขนาดนั้น ต้องใช้เวลาปรับตัวเองปรับฐานการเรียนรู้ใหม่ถึงสองปีจึงดึงคะแนนกลับขึ้นมาอยู่ในระดับทันเพื่อนได้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพื้นฐานการเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเดิมมา ยังไม่แกร่งพอเหมือนกับโรงเรียนในเมืองใหญ่ ผู้เขียนยังมั่นใจว่าตนเองไม่ได้โง่ แต่วิธีการเรียนในโรงเรียนบ้านนอกสู้โรงเรียนในเมืองใหญ่ไม่ได้ หรือไม่ดีพอเท่านั้นเอง

คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งๆ ที่ นักวิชาการทั้งหลาย หรือรัฐมนตรีทั้งหลาย หรือดอกเตอร์จากเมืองนอกจากเมืองไทยทั้งหลายจะพยายามทุ่มเทแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเทงบงบประมาณอย่างท่วมท้นก็ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ อาการยังไม่ฟื้น ยังไม่ตอบสนองต่อยาแรงที่ให้ไป ทำให้คิดไปถึงภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่ง ที่มีภาพของกลุ่มตำรวจไทยบุกค้นบ้านผู้ต้องสงสัย โดยพยายามใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่องัดประตูห้องเข้าไป แต่ก็เปิดไม่ได้ต้องใช้เวลาอยู่นานจนอ่อนใจ แต่ในที่สุดก็มีตำรวจนายหนึ่งเคาะประตูห้องนั้น แล้วก็มีชายชราคนหนึ่งที่พักอาศัยอยู่ในห้องนั้นได้เปิดลูกกลอนประตูออกมาทำให้ตำรวจเข้าไปได้อย่างง่ายดาย โดยชายชราที่อยู่อาศัยในห้องนั้นไม่รู้ว่าตำรวจต้องการเข้ามาค้นหาอะไร

เหมือนกับภาพการปฏิรูปการศึกษาไทยที่คนภายนอกโรงเรียนพยายามทุ่มเทแก้ไขทุกอย่างแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ คนภายในโรงเรียนเองก็สะบักสะบอม



การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ที่โรงเรียน ต้องแก้ที่ระบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นด่านแรกของการเปิดประตูเข้าไปสู่โลกของความรู้ครูต้องเตรียมเด็กให้ถูกวิธี เป้าหมายแรกคือการสอนให้นักเรียนอ่านออกอ่านคล่อง เขียนได้เขียนคล่อง คิดเลขได้คิดเลขคล่อง ขั้นต่อมาก็คือต้องสร้างนิสัยให้เด็กรักการอ่าน มีความสุขในการอ่าน โดยให้เริ่มต้นอ่านในสิ่งที่เด็กสนใจก่อน เช่น อ่านหนังสือการ์ตูน อ่านนิทาน หรือให้อ่านประวัติบุคคลสำคัญ ให้อ่านหนังสือที่ชวนสนุกน่าติดตามจนเด็กเกิดนิสัยรักการอ่าน

ส่วนการเขียนเมื่อเขียนคล่องแล้วก็ต้องสร้างนิสัยรักการเขียน โดยให้เขียนสิ่งที่ใกล้ตัว สิ่งที่เด็กมีความรู้อยู่แล้ว เช่น ให้เขียนบันทึกประจำวัน ให้เขียนเล่าเรื่องราวของตนเอง ให้เขียน Line ถึงเพื่อน ให้เขียน Chat ในกลุ่มเพื่อนจนเกิดเป็นนิสัย ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ต้องสร้างนิสัยรักการคิดคำนวณมองเห็นความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นตัวเลข พ่อแม่ให้เงินไปโรงเรียนวันละกี่บาท ใช้เงินอย่างไรจึงจะคุ้มค่า ใช้อย่างไรจึงจะเหลือเก็บ มีการทำบัญชีรับจ่ายอย่างง่าย จนเกิดเป็นนิสัยรักตัวเลข มองรายรับรายจ่ายในอนาคตตนเองได้ สามารถพยากรณ์รายรับรายจ่ายในอนาคตได้

การสอนคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หาร ก็เริ่มจากการนับนิ้วมือ การนับสตางค์ที่พ่อแม่ให้มาโรงเรียน การสร้างโจทย์คณิตศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง เห็นอะไรเกิดขึ้นสามารถคิดออกเป็นตัวเลขได้หมด ประมาณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านหูผ่านตาได้หมดจนเกิดเป็นนิสัย

ปกติเด็กที่เรียนชั้น ป.1 ก็จะสามารถอ่านหนังสือได้ อ่านแบบแจกรูปสะกดคำได้ พอถึงชั้น ป.2 ก็จะอ่านคล่องเขียนคล่อง พอถึงชั้น ป.3 เด็กก็จะอ่านเก่งเขียนเก่ง เขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้ นี่คือธรรมชาติของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนโดยทั่วไป อาจมีข้อยกเว้นที่มีบางโรงเรียนเร่งเด็ก เด็กอาจอ่านออกเขียนได้ก่อนชั้นที่กล่าวมานี้ หรืออ่านออกตั้งแต่ชั้นอนุบาล สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาคือการสร้างนิสัยหรือการปลูกฝังนิสัย ให้นักเรียนรักการอ่าน รักการเขียน รักตัวเลข รักการคิดคำนวณตลอดเวลา การสร้างนิสัยจึงเป็นการให้การศึกษาอบรมที่ถูกต้อง เพราะคำว่าศึกษาหรือสิกขา หมายถึงไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติต้องได้เรียนรู้จากการกระทำ Learning by doing ได้รับการฝึกฝนอบรม โรงเรียนประจำ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนทหาร เขามีความรักมีความผูกพันกันเพราะเขาสร้างวัฒนธรรมของสถาบันเขาได้ โรงเรียนฝึกหัดครูสมัยก่อนที่ประสบผลสำเร็จเพราะเขาปลูกฝังจรรยาบรรณการเป็นครู การได้ไปฝึกสอนในโรงเรียนจริงโดยมีครูพี่เลี้ยงและอาจารย์นิเทศก์คอยดูแล



การสร้างนิสัยให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน หรือ Stay hungry stay foolish ของท่าน Steve job จึงเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา การเป็นผู้ใฝ่รู้ ผู้หิวกระหายที่จะเรียน การรักการอ่าน การรักการคิด การรักการเขียน จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตขั้นปฐมภูมิที่ครูจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กให้ได้ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นไปเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่กว่า ส่วนศาสตร์ต่างๆ ใน 8 สาระ หรือใน 8 รายวิชานั้น เป็นเนื้อหาหลักสูตรที่เป็นความต้องการของประเทศ หรือเป็นเจตนาดีของผู้ใหญ่ เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของเยาวชนที่ใช้เป็นบันไดก้าวเดินต่อไปยังบทเรียนข้างหน้า ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ หลายอย่างเป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นความรู้ที่ยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ แต่ก็มีอีกหลายศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้สมัยใหม่ในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

ในสมัยก่อนความรู้ทั้งหลายอยู่ในตัวครู เด็กต้องมารับความรู้จากครู ครูต้องเป็นเจ้าสำนัก เป็นเจ้าของความรู้ เป็นเจ้าของความถูกต้อง เด็กอยากมีความรู้ต้องมาแสวงหาครูที่เก่ง แต่โลกในปัจจุบัน โลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เปลี่ยนไปแล้ว ความรู้มีอยู่ทั่วไป ความรู้มีอยู่ในอากาศ ความรู้มีอยู่ใน Google ความรู้มีอยู่ใน You tube ความรู้มีอยู่ใน Computers ความรู้ไม่ได้มีผูกขาดอยู่ที่ตัวครูแล้ว บทบาทของครูจึงไม่เหมือนเดิม ครูไม่ใช่คนที่จะเทความรู้จากหัวสมองของครูมาให้เด็กเหมือนสมัยโบราณแล้ว หน้าที่ใหม่ของครูจึงเป็นเพียงโค้ช เป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้ที่ชี้ช่องบอกทางแนะนำเทคนิคการสืบค้นใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกับผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้ลงมือฝึกฝน ค้นคว้า ได้ลงมือปฏิบัติได้ค้นพบด้วยตนเอง

การออกแบบการสอนจึงไม่เหมือนสมัยก่อน แผนการสอนสมัยใหม่ Lesson plan ที่กำลังมาแรงคือการสอนแบบโครงงาน หรือ Project base เป็นสิ่งที่ผู้มีอาชีพครูในยุคนี้ต้องทำเป็น ต้องให้ผู้เรียนได้บูรณาการความรู้ต่างๆ ที่มีหรือที่ได้เรียนมา มาจัดทำเป็นโครงงานโดยมีครูหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติตามกรอบที่ได้ออกแบบไว้ ให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจ ได้แก้ปัญหา ได้คิดวิเคราะห์ ได้คิดแบบวิพากษ์ ได้ลงมือปฏิบัติ ฯลฯ ให้เรียนรู้ผ่านการทำโครงงานเดี่ยว หรือโครงงานกลุ่ม หรือให้เด็กได้ออกหาประสบการณ์จากการฝึกงานจริง

เมื่อผู้เรียนทำโครงงานสำเร็จแล้ว ต้องมีเวทีให้ผู้เรียนได้นำเสนอ ครู ต้องสร้างเวที หรือหาโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเสนอโครงงาน หรือการ Presentation จะเป็นการแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เป็นการสรุปความคิดร่วมยอดของผู้เรียนที่ได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้แบบการทำโครงงานมา อย่างต่างประเทศบางประเทศ (Canada ที่ผู้เขียนเคยไปเห็นมา) ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาดูการนำเสนอของนักเรียนตอนสิ้นเทอม หรือสิ้นปีการศึกษา ทั้งนักเรียนครูและผู้ปกครองต่างรอวันนี้ เด็กได้เตรียมวางแผน ฝึกซ้อมนำเสนอโครงงานมาตลอดเทอมหรือตลอดปีการศึกษา เพื่อแสดงผลงานที่เขาได้เรียนมาตลอดปี จัดได้ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจมาก

การเล่นคือการเรียนรู้ที่จะให้เด็กได้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักกฎ กติกามารยาททางสังคม รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย การให้เด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เล่นกับเพื่อนจึงเป็นการเรียนชนิดหนึ่ง กิจกรรมการเล่นมีทั้งอยู่ในหลักสูตรและอยู่นอกหลักสูตร การเล่นแบบมีโครงสร้าง เช่น การเล่นกีฬา การเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี การเข้าร่วมกิจกรรมชมรมต่างๆ ส่วนการเล่นที่ไม่มีโครงสร้างคือให้ เด็กสามารถคิดออกแบบได้เอง ดังนั้น โรงเรียนต้องฝึกหรือให้โอกาสเด็กได้เล่นด้วย



การวัดผลการเรียนรู้ในสมัยใหม่นี้ก็ต้องใช้เครื่องมือวัดประเมินผลที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของบทเรียน ข้อทดสอบแบบเลือกตอบ ก ข ค ง ไม่สามารถวัดผลศักยภาพของเด็กได้ทุกอย่าง เป็นได้เพียงยาบรรเทาอาการปวดชั่วคราว เหมือนยาพาราเซตามอล หรือยาเม็ดสีชมพูที่ใช้รักษาสารพัดโรคนั้น ควร/ต้อง เลิกใช้ได้แล้ว ข้อสอบแบบ Multiple choice จึงเป็นข้อสอบที่สอนให้เด็กนั่งรอคอยคำตอบค้นหาเองไม่เป็น รอให้คนอื่นจัดหาไว้ให้ ทำให้เด็กขี้เกียจ รอโชคชะตา ทำให้การศึกษาไทยถอยหลังไปยิ่งกว่าวิธีสอนที่แย่ที่สุด เด็กไทยที่เขียนหนังสือไม่เป็นทุกวันนี้เพราะข้อสอบแบบกา เลือกตอบ ก ข ค ง ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เขียนบรรยาย มีหลายประเทศที่ใช้ข้อสอบแบบนี้ให้น้อยที่สุด ยิ่งระบบการวัดผลการศึกษาไทยที่เด็กสอบแล้วตกไม่เป็น เรียนซ้ำชั้นไม่ได้เพราะสามารถสอบแก้ ศูนย์ ร มส. ได้ตอนปลายปี ได้ลากจูงเด็กเหล่านี้ตามเพื่อนไปจนจบชั้น มัธยมศึกษาตอนปลาย แบบไร้คุณภาพ

การปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดูคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมาแต่ละปีบัณฑิต

สาเหตุหลักมาจากการขาดคุณภาพของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนที่สองเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนการสอนที่ผิดพลาด หรือเกิดจากปัญหาขององค์กรของมหาวิทยาลัย บุคลากรขาดคารวะธรรม ขาดระบบอาวุโส ต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งอธิการกันอยู่แทบทุกมหาวิทยาลัย

ขุดรากถอนโคนระบบการศึกษาไทยเสียเถิด จัดหลักสูตรให้ทันสมัยเหมาะสมกับวัย จัดการเรียนการสอนแบบใหม่ เลิกระบบอบรมครูตลอดปี เลิกโครงสร้างองค์กรภายนอกที่รบกวนโรงเรียน เลิกระบบการประเมินมาตรฐานการศึกษาที่ไม่มีมาตรฐาน เลิกการยัดเยียดขยะ (Garbage) รายวิชาต่างๆ ที่ไม่จำเป็นจริงเข้าไปในห้องเรียน ลดคาบการเรียนลง ให้เด็กได้เล่นมากขึ้น ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง

เลิก การประเมินมาตรฐานวิชาชีพครูแบบผิดๆ ปล่อยให้โรงเรียนเป็นตัวของตัวเองเพียงพอที่จะดูแลลูกศิษย์ของตนเองได้โดยไม่มากังวลกับหน่วยงานที่มาคอยตรวจสอบจับผิดจนครู เท่านี้แหละ การปฏิรูปการศึกษาไทย ง่ายๆ กล้วยๆ สบายๆ



(ที่มา:มติชนรายวัน 4 ส.ค. 2557)



05/08/2557