เข้มขรก.เอี่ยวโกง พิจารณาทุกเดือน โยกย้ายตลอดทั้งปี

วันที่ 4 เมษายน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) กล่าวถึงกรณี ศอตช.เตรียมเสนอรายชื่อข้าราชการ ประมาณ 100 รายชื่อ ที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการทุจริต ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) พิจารณา ในสัปดาห์หน้า ว่า ได้มอบให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) จัดทำรายชื่อกลุ่มบุคคลและฐานะความผิด ท้ายรายชื่อให้ชัดเจน ว่าใครมีความผิดฐานะอะไร เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจสอบแล้วทราบฐานความผิดได้ง่าย
สำหรับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ได้มา มาจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.), สำนักงานคณะกรรมการและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)

จากนั้นมานั่งประชุม พิจารณาหลักฐาน ว่าพฤติการณ์การกระทำความผิด ว่ามีเกี่ยวข้องกับการทุจริตในระดับ ก่อนที่จะคัดรายชื่อออกมาในรอบนี้ นี่คือระบบการทำงานของศอตช. ทุกอย่างมีฐานข้อมูล

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การประชุมลักษณะนี้จะเกิดขึ้นทุกเดือน อาจจะมีรายชื่อเพิ่มขึ้น หรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีก็จะส่งรายชื่อไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ต้นสังกัด ในการปรับย้ายข้าราชการเหล่านี้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ หลังจากนี้การปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต จะเกิดขึ้น ตลอดทั้งปีไม่ต้องรอฤดูกาลโยกย้าย เพราะถ้าความผิดเกิดขึ้น ตลอดปี ก็ต้องปรับย้ายได้ทั้งปี

\"จะมีการประชุมพิจารณารายชื่อทุกเดือน มี3 หรือ4 ชื่อ ก็ต้องประชุม ดังนั้น จะมีการย้ายได้ทั้งปีเพราะถ้าความผิดเกิดขึ้นทั้งปี ก็ต้องย้ายทั้งปี จะรอเทศกาลทำไม เวลาคุณผิดตำรวจจับเฉพาะฤดูร้อนเดือนเมษาหรือยังไงหรือไม่จับหน้าหนาว มันคงไม่ใช่เพราะมันเป็นฐานความผิด\"

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหลายคนท้วงติงว่าระบบปราบปรามการมทุจริตคอรัปชั่น ของรัฐบาลทำไมช้า ไม่ทันใจ ตนที่เข้ามารับผิดอชอบงานด้านปราบปรามการทุจริตจึงคิดและเสนอให้มีศอตช. เพื่อจะได้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและจริงจังกับการดำเนินการเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นขั้นตอนการใช้อำนาจทางการบริหาร เมื่อมีปัญหาพัวพันการทุจริต ก็ต้องปรับย้าย บางรายหน่วยตรวจสอบทุจริตชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่งเรื่องไปต้นสังกัดดำเนินการ แต่ต้นสังกัดไม่ทำอะไรอย่างปล่อยไว้ไม่ได้ ส่วนมาตรการทางคดีอาญาก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ากันตามระบบกระบวนการยุติธรรม





ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2558



05/04/2558