เด็กหญิงชาวปากีสถาน ที่ถูกตาลิบันยิงศีรษะ เพียงเพราะเธออยากไปโรงเรียน

มาลาลา ยูซัฟไซ คือเด็กหญิงชาวปากีสถาน ที่ถูกตาลิบันยิงศีรษะ

เพียงเพราะเธออยากไปโรงเรียน

สำหรับเธอแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และปลดแอกผู้คนจากกรงขังทางความคิดคือการศึกษา ซึ่งทำได้โดย \"เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม\"

หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงจากความเชื่อของเธอที่ว่า ปากกาสามารถสู้กับปลายกระบอกปืนได้ เธอเขียนเรื่องราวของเธอ และอธิบายความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ในปากีสถานให้ผู้คนได้รับรู้ ซึ่งการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนทั่วโลกนี้เอง ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความพยายามที่จะช่วยเหลือ และยกระดับสังคมในปากีสถาน

ถึงแม้เรื่องราวใน I Am Malala จะเกิดขึ้นในปากีสถาน ซึ่งอาจจะดูไกลตัว แต่ประเด็นความคิดในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย


“หยิบหนังสือของเราและปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ทรงอานุภาพกว่าอาวุธ เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้”

นี่คือคำกล่าวอันเลื่องชื่อของเด็กหญิงปากีสถาน ต่อหน้าสหประชาชาติ ขณะที่เธออายุครบ 16 ปี เด็กผู้หญิงคนนี้ชื่อว่า “มาลาลา ยูซัฟไซ” เธอเป็นเพียงเด็กหญิงกล้าแสดงออกคนหนึ่งที่รักเรียนและรักการทำกิจกรรม ซึ่งไม่น่าแปลกสำหรับสังคมเสรี แต่เด็กผู้หญิงแบบเธอเป็นเสมือนอาชญากรในสายตาของใครหลายคน ภายในสังคมจารีตอย่างปากีสถาน
ระหว่างที่มาลาลาเดินทางกลับจากโรงเรียนในวันหนึ่ง ตาลิบันจึงยิงศีรษะเธอ เพียงเพราะเธอเป็นเด็กหญิงที่อยากไปโรงเรียน
ใครจะเชื่อว่าแต่เดิม โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน ต้องการให้ประเทศแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง (tolerance) และประกาศเมื่อไม่นานก่อนวันที่ปากีสถานได้รับเอกราชว่า “ทุกคนมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนา หรือลัทธิใดๆ ก็ได้ โดยรัฐไม่มีสิทธิก้าวก่าย” แต่เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจมาสู่มือของเผด็จการอย่างนายพลเซีย อุล-ฮัค ปากีสถานก็กลายเป็นสังคมที่ปิดกั้น โดยเฉพาะต่อผู้หญิง ซึ่งมีคุณค่าเพียงครึ่งเดียวของผู้ชาย ความยุติธรรมเริ่มเลือนหายลงอีกเมื่อตาลิบันเข้ามามีอำนาจ
ตาลิบันนำกฎหมายอิสลามที่เข้มงวดที่สุดเข้ามาใช้ การควบคุมคนให้อยู่ในกำมือทำได้ด้วยกระบอกปืน ผสมกับการล้างสมองด้วยอุดมการณ์ทางศาสนา เพราะคนโง่ย่อมปกครองง่ายกว่าคนฉลาด ดังนั้น การบั่นทอนเรื่องการศึกษาจึงเป็นกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่ง บรรดาโรงเรียนจึงถูกวางระเบิด ครูและนักเรียนถูกลอบทำร้าย ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องเป็นความเห็นที่ไปในทางเดียวกับตาลิบันเท่านั้น ผู้ที่เห็นต่างจะต้องเผชิญกับความตาย
ในสายตาชาวโลก ตาลิบันฉาวโฉ่เรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิง ผู้หญิงมีค่าแทบไม่ต่างจากวัวควาย หน้าที่มีเพียงดูแลบ้านและให้กำเนิดลูกเท่านั้น ตาลิบันบิดเบือนคำสอนของอิสลาม และสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน ผลของการขาดการศึกษาคืออวิชชา คนที่ไร้การศึกษาอาจถูกชี้นำหรือล้างสมองได้ง่าย ผู้หญิงที่ไร้การศึกษาต้องพึ่งพาผู้ชายไปตลอดชีวิต
แต่สังคมในอุดมคติของเด็กหญิงมาลาลา คือสังคมที่มีเสรีภาพ ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถเปิดปากหรือจรดปลายปากกาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะเธอเชื่อว่าพระเจ้ามีเหตุผลที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย และต้องเป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรง
สำหรับเธอ หนทางเดียวที่จะปลดปล่อยผู้คนสู่เสรีภาพได้คือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งทรงพลังที่จะช่วยขจัดความเขลา ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม
การศึกษาไม่ใช่เรื่องของตะวันตกหรือตะวันออก หากแต่เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน การศึกษาไม่ได้หยุดแค่เพียงป้อนข้อมูลต่างๆ เข้าไปในสมองของนักเรียน แต่ต้องเป็นการศึกษาที่สอนให้คนกล้าตั้งคำถาม กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าแสดงตัวตนของตัวเอง การศึกษาในอุดมคติคือการมีความคิดเชิงวิพากษ์ ดังเช่นมาลาลาและพ่อของเธอ ในเมื่อนักการเมืองล้วนง่อยเปลี้ย “ก็ต้องมีใครสักคนพูดอะไรออกมา”
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดหนังสือเรื่อง I Am Malala ซึ่งมาลาลา ยูซัฟไซ เป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง โดยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของเธอกับพ่อในปากีสถาน ทั้งยังได้นักข่าวดีเด่นอย่างคริสติน่า แลมบ์ เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศนี้ ทำให้ I Am Malala เป็นหนังสือที่ล้ำลึกหลากมิติยิ่งขึ้น
หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานของอานุภาพแห่ง “ปากกา” หนังสือเล่มเดียว ข้อเขียนเรื่องเดียว ทำให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความอยุติธรรม ทำให้ชื่อของมาลาลาเป็นที่จดจำ นิตยสาร Forbes จัดให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุด ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
“อาวุธ” ของมาลาลามีแสนยานุภาพมากกว่าปืนชนิดใดๆ
ใครว่าปากีสถานเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ว่าประเทศไหนบนโลกล้วนมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง ทุกประเทศล้วนมีพัฒนาการและจุดบอด มนุษย์ทุกหนแห่งล้วนมีความคิดจิตใจไม่ต่างกัน การอ่านเรื่องของคนอื่น จึงเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวตน เพื่อให้เราตรวจสอบตัวเอง
จะเป็นอย่างไรหากเราได้อยู่ในสังคมที่ไร้อคติ สังคมที่ตระหนักว่าการศึกษา เสรีภาพแห่งปัจเจก และความเท่าเทียมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด!

บทความโดย วรางคณา เหมศุกล
บรรณาธิการหนังสือ I Am Malala




คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.matichonbook.com/index.php/matichonbook/newbooks/978-974-02-1335-2.html



ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:06:07 น.



07/10/2557