แพทย์เผยแบคทีเรียกินเนื้อคน

แพทย์เผยแบคทีเรียกินเนื้อคน มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม มีหลายชนิด ที่ผ่านมาในไทยมีผู้เสียชีวิตประปราย รวมทั้งในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ก็มีคนเสียชีวิตเพราะได้รับเชื้อแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวมาแล้ว รอง ผอ.รพ.นนทเวชย้ำ ถ้าถูกปลาตำควรทำความสะอาดแผลเยอะๆ เค้นเลือดเพื่อให้เชื้อโรคระบายออก หรือเพื่อให้แน่ใจควรไปหาหมอให้ดูแลแผลก่อนลุกลาม
จากที่มีการส่งต่อข้อความทางโซเชียลเน็ตเวิร์กว่ามีอดีตผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ที่เลือกซื้อปลาทับทิมในตลาดและถูกเงี่ยงปลาตำที่นิ้ว จนได้รับเชื้อแบคทีเรียในตัวปลา ต่อมาเกิดอาการรุนแรง รักษาเพียง 3-4 วันก็เสียชีวิต
ล่าสุด นพ.เสรี หงษ์หยก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนของผู้เสียชีวิต ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงข่าว \"เรื่องเด่นเย็นนี้\" ของไทยทีวีสีช่อง 3 ว่าผู้ตายเป็นเพื่อนรักของตนเอง และทราบการป่วยมาตลอด สำหรับการเสียชีวิตน่าจะมาจากการที่เชื้อแบคทีเรียได้เข้าไปในกระแสเลือด พอดีหลังจากโดนปลาตำที่นิ้วเมื่อวันที่ 18 ก.ค. วันจันทร์ที่ 21 ก.ค. ผู้ป่วยเกิดไปเดินสะดุดบันไดล้มลง ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อที่ขาฉีกขาด และมีเนื้อช้ำที่ท่อนขา ซึ่งหลังจากนั้นขาก็ปวดบวม ต้องเข้าห้องผ่าตัด
\"เนื้อขาที่ช้ำกลายเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ ซึ่งมีเอนไซม์ไปย่อยเนื้อบริเวณขา ทำให้เนื้อตรงนั้นเน่า ซึ่งผมเองได้เข้าไปในห้องผ่าตัดด้วย แต่หมอกรีดผ่ากล้ามเนื้อก็มีกลิ่นเน่าออกมา เพราะแบคทีเรียได้เข้าไปกินเนื้อส่วนนั้นแล้ว\" นพ.เสรีกล่าว
นพ.เกรียงไกร จีระแพทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนนทเวช โรงพยาบาลที่ผู้เสียชีวิตได้เข้ารักษาตัว ให้สัมภาษณ์ในรายการเดียวกันว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้เกิดจากการล้มเหลวอวัยวะหลายๆ ส่วน เพราะเชื้อได้กระจายไปตามกระแสเลือด และเอนไซม์จากเชื้อแบคทีเรียได้เข้าไปกินเนื้อที่ขา ตามที่ นพ.เสรีระบุ สำหรับการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ บางคนอาจมีอาการแค่ท้องเสียแล้วหายไป แต่กรณีถ้ารับเชื้อแล้วเป็นบาดแผล ทราบมาว่าในชาวประมงถึงต้องตัดแขน แต่ในบางคนโดนแล้วก็ไม่เป็นอะไร
รอง ผอ.รพ.นนทเวช กล่าวอีกว่า สำหรับเอนไซม์ของเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว หากเข้าไปย่อยโปรตีนในร่างกายมนุษย์แล้ว โอกาสที่จะทำให้ผู้รับเชื้อเสียชีวิตก็จะมีมากกว่า 50%
ด้านวิธีการป้องกัน นพ.เกรียงไกรกล่าวว่า บาดแผลเล็กๆ น้อยอาจนำมาสู่โรคร้ายแรงได้ ควรป้องกันตั้งแรก หลังได้รับบาดเจ็บ การปฐมพยาบาลแรกๆ ควรล้างน้ำสะอาดมากๆ และพยายามบีบเค้นเอาเลือดตรงปากแผลเพื่อให้เชื้อออกมา หลังจากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือถ้าเป็นไปได้ควรให้แพทย์ดู ซึ่งปกติในกรณีถ้าเป็นแผลตำ ตามหลักการแพทย์แล้วต้องผ่าเปิดแผลให้กว้างขึ้น เพื่อให้เชื้อโรคระบายออกมา
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาระบุว่า อาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 2 กลุ่มที่ออกฤทธิ์รุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายและอยู่ในน้ำสกปรกคือ แอนแอโรบิกแบคทีเรีย (Anaerobic Bacteria) และแอโรโบแนสแบคทีเรีย (Aeromonas Bacteria) โดยเชื้อเหล่านี้อาจอยู่ตามลำตัว ก้างปลา เงี่ยง และซอกเหงือก หากกินปลาแล้วก้างปลาตำก็จะได้รับเชื้อนี้
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า แบคทีเรียทั้ง 2 ตัวนี้มีความรุนแรงมากกว่าแบคทีเรียชนิดอื่นหลายเท่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เนื้อเยื่อเน่าตาย แพทย์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อออกเพื่อไม่ให้พิษลามไปติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะอาจถึงขั้นช็อกเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง
สำหรับผู้ที่เสี่ยงรับเชื้อนี้คือ คนที่มีภูมิต้านทานโรคไม่ดี รวมทั้งคนที่ป่วยเบาหวานอยู่แล้ว ที่หากเป็นแผลขึ้นมา เชื้อจะยิ่งลุกลามหนักกว่าคนทั่วไป แต่หากไม่มั่นใจว่าจะโดนพิษจากแบคทีเรีย 2 กลุ่มนี้หรือไม่ ก็ควรล้างมือ-ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากไปลุยน้ำสกปรก หรือไปเลือกซื้ออาหารที่เป็นสัตว์น้ำต่างๆ มา
\"ถ้าหากถูกก้างปลาตำจนเลือดออก ควรบีบเลือดออกให้มากที่สุด แล้วใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่หากเกิดแผลบวม เป็นไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ แล้วแจ้งข้อมูลให้หมอทราบอย่างละเอียด\"
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในสิ่งแวดล้อมมีแบคทีเรียหลายชนิด และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดได้ไม่บ่อย ในประเทศไทยมีรายงานการเสียชีวิตประปราย แต่ไม่มีการเก็บสถิติอย่างจริงจัง อย่างเช่นช่วงที่เกิดสึนามิ ก็พบมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียหลายราย เหมือนกับการถูกแมงมุมสีน้ำตาลกัด
\"ทั้งนี้ แบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมีหลายตัว ซึ่งอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม น้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ แต่ยืนยันได้ว่าในสระว่ายน้ำ น้ำประปาไม่มีปัญหาเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่ใจ หากเกิดบาดแผลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างที่มีการสัมผัสกับน้ำสกปรก ก็ให้ไปพบแพทย์ อย่างน้อยจะได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก\".
-------------------------------------



ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Friday, 25 July, 2014 - 00:00



25/07/2557