ก.ค.ศ.ปรับเกณฑ์ใหม่"ครูผู้ช่วย"บรรจุแล้วห้ามย้ายก่อน4ปี

เริ่มทันที ม.ค.59/จ่อสอบบรรจุอีก8,000อัตรา กำหนดสมัคร 1คน 1 เขต สกัดวิชามารทุกรูปแบบ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ และวิธีการย้าย\"ครู\" สายงานการสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่ ก.ค.ศ.เสนอขอปรับเกณฑ์การขอย้าย ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่กำหนดว่าห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการลาศึกษาต่อ และห้ามขอย้ายในช่วงที่มีการพัฒนาอย่างเข้ม แต่สามารถขอย้ายเป็นกรณีพิเศษที่มีภัยคุกคามได้ อาทิ ขอย้ายเพื่อไปดูแลบิดา มารดา หรือไม่มีความปลอดภัยกับชีวิต เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาครูใช้ช่องทางดังกล่าวขอย้ายเปลี่ยนสถานศึกษาจำนวนมาก หรือพออบรมพัฒนาเรียบร้อยก็ขอย้ายทันที ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน โดยต่อไป \"ครู\" ที่ต้องการขอย้ายสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือนหรือ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ การย้ายสับเปลี่ยนกับตำแหน่งที่มีอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องขอย้าย และต้องมีอายุราชการเหลือไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับถึงวันที่ 30 ก.ย.ของปีที่ครบเกษียณอายุราชการ ส่วน\"ครูผู้ช่วย\"จะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอ โดยหลักเกณฑ์ขอย้าย จะเริ่มใช้ในเดือน ม.ค.59 ซึ่งการขอย้ายกรณีปกติ จะยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้งช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปี ส่วนการขอย้ายกรณีพิเศษยื่นคำขอย้ายได้ตลอดปี พร้อมหลักฐานทางราชการ หรือทางการแพทย์ ความเห็นและคำรับรองของผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ สำหรับการยื่นคำร้องขอย้ายตามตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้เดิม ตามหลักเกณฑ์ ว8/2549 สามารถยื่นได้อีก 1 ครั้ง ในวันที่ 1-15 ส.ค.58 นี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอขอจัดสอบบรรจุ\"ครูผู้ช่วย\"แทนอัตราว่างที่ยังขาดอยู่ประมาณ 8,000 อัตรา พร้อมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันใหม่ โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้จัดสอบ และให้เขตพื้นที่รวมกลุ่มในพื้นที่ตรวจราชการ คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เหมาะสม เป็นผู้ออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีมาตรฐาน และที่สำคัญผู้สมัครสามารถสมัครสอบได้เพียงที่เดียวเท่านั้น เพราะเดิมไม่ได้กำหนดไว้ทำให้มีผู้สมัครสอบในหลายพื้นที่ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณไม่สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงได้ อีกทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการรับจ้างสอบหรือการวิ่งรอกสอบ
อย่างไรก็ตาม หากเขตพื้นที่ใดที่มีอัตราว่างแต่ไม่เปิดสอบเอง จะรอขอใช้บัญชีเขตพื้นที่อื่นนั้น ที่ประชุมมีมติไม่ให้ขอใช้บัญชีข้ามเขต เพราะเป็นช่องทางการเรียกผลประโยชน์ โดยจากนี้สพฐ.จะไปกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกและประกาศรับสมัครสอบต่อไป


ที่มา:สยามรัฐ Thu, 23/07/2015 - 16:06



26/07/2558