เผยชายชาวพิจิตรถูกตัดขา ไม่ใช่เพราะแมงมุมสีน้ำตาลกัด เหตุแบคทีเรียกิน

ผยชายชาวพิจิตรถูกตัดขา ไม่ใช่เพราะแมงมุมสีน้ำตาลกัด เหตุแบคทีเรียกินเนื้อคน

จากกรณีชายชาวอำเภอเด่นชัย จ.แพร่ ถูกแมงมุดกัดและมีบาดแผลลุกลามตามร่างกาย จนสุดท้ายแพทย์ตัดสินใจตัดขาข้างขวาออกเพื่อรักษาชีวิต เนื่องจากพิษได้ลุกลามไปตามส่วนต่างๆของร่างกายนั้น

ล่าสุดวันที่ 26 กรกฎาคม พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการตรวจซากแมงมุมที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของการเกิดบาดแผลลุกลามดังกล่าว ว่า แมงมุมที่ญาติเก็บได้จากเตียงผู้ป่วย และส่งไปตรวจเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมประกอบด้วยแมงมุมหลายตัว เป็นแมงมุมที่ตายมาแล้วอย่างน้อย 7 วัน มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปมากจากธรรมชาติ

โดยมีข้อจำกัดในการตรวจอย่างมาก เนื่องจากซากแมงมุมมามีลักษณะไม่สมบูรณ์ มีการเปลี่ยนสี มีบางส่วนของลำตัวขาดหายไป มีเฉพาะส่วนตาที่ดูได้ชัดเจน คือ มีลักษณะตา 3 คู่เหมือนกับแมงมุมสีน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม หลังจากการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน และได้นำซากดังกล่าวไปแช่ในแอลกอฮอล์หลายวัน เพื่อช่วยให้มีความอ่อนตัวมากขึ้น จนพบว่า เป็นแมงมุมที่พบได้ในประเทศไทยทั้งหมด ที่สำคัญไม่มีพิษ และไม่ใช่แมงมุมสีน้ำตาล แต่เป็นแมงมุมที่ชื่อว่า สปิตติง สไปเดอร์ (Spitting Spider) ซึ่งพบได้ตามที่อยู่อาศัยทั่วไป และไม่มีพิษ

พญ.ธัญจิรา กล่าวอีกว่า วันที่ 24 กรกฎาคม ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่สำรวจ ก็พบว่า บริเวณใกล้เคียงของบ้านผู้ป่วยก็พบแมงมุมสปิตติง สไปเดอร์ เช่นกัน ส่วนที่รอบ 2 เจ้าหน้าที่ได้ไปเก็บตัวอย่างมาจากบ้านผู้ป่วยพบว่า มีแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (Brown Widow Spider) แต่จากการสอบถาม แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล ไม่ใช่แมงมุมที่กัดผู้ป่วยรายนี้ เพราะญาติและผู้ป่วยยืนยันว่าไม่ใช่ตัวนี้ และยังยืนยันอีกว่าไม่ใช่สปิตติง สไปเดอร์ ด้วย แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าเป็นชนิดใด

สำหรับแมงมุมพิษสีน้ำตาลนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีรายงานพบแมงมุมชนิดนี้ แต่ที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและแผลลุกลามจนต้องตัดขานั้น ทางแพทย์ผู้เฃี่ยวชาญที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยในรายนี้ทุกฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลแพร่ มีความเห็นตรงกันว่า ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติแมงมุมกัดจริง แต่แผลลุกลามที่เกิดขึ้นจนต้องตัดขาขวา ความดันโลหิตต่ำ ภาวะตับและไตทำงานผิดปกติ เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากถูกแมงมุมกัด ภาวะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อแม้ไม่ได้ถูกแมงมุมกัด การได้รับการรักษาอย่างถูกต้องล่าช้าทำให้ติดเชื้อลุกลามและรุนแรง การเจ็บป่วยที่รุนแรงในผู้ป่วยในรายนี้ไม่ใช่ผลของพิษแมงมุมโดยตรง

ถามว่า เป็นลักษณะเดียวกับกรณีถูกเงี่ยงปลาตำแล้วติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) หรือแบคทีเรียกินเนื้อคนหรือไม่ พญ.ธัญจิรา กล่าวว่า เป็นลักษณะเดียวกันคือ เกิดแผลแล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียจนลุกลาม ขอให้ระมัดระวัง หากเกิดแผลไม่ว่าบริเวณใดก็ตามหรือเล็กใหญ่ ทั้งจากถูกของมีคมบาดหรือแมลงกัด เช่น แมงมุม ขอให้รีบล้างแผล ทำความสะอาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

เมื่อถูกแมงมุมกัดให้รีบทำความสะอาดแล้วเฝ้าดูอาการหากมีอาการปวดมาก แผลลุกลามบวมแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที แต่หากแค่รู้สึกเจ็บหรือปวดไม่มาก สามารถทนได้ก็สามารถเฝ้าดูอาการได้ 1 คืน หากไม่ดีขึ้นหรือปวดมากขึ้นก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา

\"ที่ผู้ป่วยอาการหนักไม่ใช่พิษแมงมุม อย่ามองว่าแมงมุมเป็นจำเลย ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวเกิดผลกระทบอย่างมาก นักท่องเที่ยวลดลง เพราะหวั่นเกรงแมงมุม แต่จริงๆ แล้วอาการรุนแรงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ แมงมุมส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีพิษ ส่วนประเภทมีพิษก็ไม่รุนแรง อย่างแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลแม้จะมีพิษก็ไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต ที่สำคัญในไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลมาก่อน\"

ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:50:56 น.



26/07/2557