โรคต่อมลูกหมากกับชายสูงวัย

โรคของต่อมลูกหมากมักพบได้บ่อยในชายที่มีอายุมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ใต้ต่อมกระเพาะปัสสาวะและต่อมนี้โอบล้อมรอบท่อปัสสาวะไว้ ในวัยหนุ่ม ต่อมลูกหมากจะมีขนาดประมาณเท่าผลวอลนัท และจะขยายขนาดมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ถ้าส่วนที่ขยายใหญ่นั้นไปกดเบียดบริเวณท่อปัสสาวะ ก็จะส่งผลทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่งตามมาได้

โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จากการศึกษาพบว่าในผู้ชายที่มีอายุประมาณ 60 ปี จะมีโอกาสตรวจพบโรคต่อมลูกหมากโตได้ประมาณ 50-60% และอุบัติการณ์จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสูงถึง 80% ในผู้ชายที่อายุ 80 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยแต่ละคนอาจมากน้อยต่างกัน และอาการของคนไข้บางคนก็ไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมากที่โตด้วย เพราะบางคนต่อมลูกหมากโตไม่มาก แต่โตในตำแหน่งที่กดเบียดท่อปัสสาวะพอดี ก็จะมีอาการมากได้ การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีหลายวิธี โดยมักจะเริ่มด้วยการรับประทานยาก่อน ในปัจจุบันมียาหลากหลายชนิด ได้ผลการรักษาค่อนข้างดีและผลข้างเคียงไม่มาก แต่หากรักษาด้วยการรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อต่อมลูกหมากส่วนที่ปิดกั้นท่อปัสสาวะออก ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้คล่องมากขึ้น

สิ่งที่ผู้ชายหลายคนกังวลคือ ถ้าเป็นต่อมลูกหมากโตแล้วจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ปกติต่อมลูกหมากโตจะไม่กลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่มีโอกาสพบร่วมกันได้ บางคนอาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากโดยไม่แสดงอาการใด ๆ ได้เช่นกัน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในผู้ชายทั่วไปจะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ที่ 16.72% ซึ่งในประเทศไทยเองยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากของคนไทยเป็นเท่าใด แต่โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในคนที่มีประวัติครอบครัวที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ปัจจุบันใช้การตรวจร่างกายทางทวารหนัก ร่วมกับการตรวจเลือดหาค่า PSA ซึ่งย่อมาจาก Prostate Specific Antigen ในคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสตรวจพบค่า PSA สูงกว่าปกติ แต่ยังมีภาวะอื่น ๆ ที่สามารถทำให้ค่า PSA สูงขึ้นกว่าปกติได้ เช่น ภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ การใส่สายสวนปัสสาวะ การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตธรรมดาบางคนก็อาจมีค่า PSA ที่สูงกว่าค่าปกติโดยที่ตรวจไม่พบมะเร็งแต่อย่างใด ซึ่งโดยธรรมชาติค่า PSA มักจะสูงขึ้นช้า ๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในทางตรงข้าม ยังมีปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้ค่า PSA ต่ำกว่าความเป็นจริงได้เช่นกัน เช่น ยารักษาต่อมลูกหมากโตบางชนิด เป็นต้น ดังนั้นในการแปลผล แพทย์จำเป็นต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงอาจมีการส่งตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อหาสาเหตุของค่า PSA ที่ขึ้นสูงขึ้น และอาจรวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุต่อไป

คำถามต่อมาคือ ควรจะเริ่มตรวจ PSA เมื่ออายุเท่าใด สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า สำหรับผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ PSA เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการตรวจนั้นมีน้อยมาก สำหรับผู้ที่อายุระหว่าง 40-54 ปี แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 55-69 ปี สามารถตรวจ PSA ได้ โดยจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การตรวจ PSA ในประชากร 1,000 คน จะป้องกันการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 1 คน ส่วนคนที่อายุมากกว่า 70 ปี การจะตรวจ PSA หรือไม่นั้นควรพิจารณาเป็นคน ๆ ไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดตายตัวสำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ PSA และข้อแนะนำนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ข้อมูลในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า กลุ่มประชากรที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 55-69 ปี ดังนั้นก่อนทำการตรวจผู้ป่วยควรพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการตรวจ PSA ที่จะได้รับ เพื่อตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยต่อไป

สำหรับการดูแลสุขภาพของต่อมลูกหมากโดยทั่วไปนั้น มีการศึกษาพบว่าโรคของต่อมลูกหมากมีความเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนลงพุง ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกาย ลดน้ำหนักส่วนเกิน งดสูบบุหรี่ ลดการทานอาหารประเภทเนื้อแดง และสารอาหารที่อาจจะสามารถป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ คือสารไลโคปีน ซึ่งพบมากในมะเขือเทศ และพบว่าหากนำมะเขือเทศไปปรุงสุกในน้ำมันเล็กน้อยก่อนการรับประทาน สารไลโคปีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการดูแลสุขภาพของต่อมลูกหมากนั้นก็คือการดูแลสุขภาพทั่วไปนั่นเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

ยังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคของต่อมลูกหมากอีกมาก และในโอกาสอันใกล้นี้ หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานสัปดาห์แห่งการแก้ไขและให้คำปรึกษาปัญหาต่อมลูกหมากเพื่อประชาชน ครั้งที่ 4 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 จึงขอเชิญผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 09-3859-5401 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม

นพ.เปรมสันติ์ สังฆ์คุ้ม

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล



13/10/2557