โรงเรียนเกษตรกร

มีความรู้ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายจริง” ความภาคภูมิใจของ นายมานพ พิมพ์แสน เกษตรกรวัย 54 ปี บ้านเด่นสำโรง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมจาก “โครงการอบรมวิทยากรแกนนำ การจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน หรือ IPM รุ่น 2” ของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน (ศฝช.) อุตรดิตถ์ ที่นำตารางสรุปรายรับ-รายจ่าย การทำนาบนผืนดิน 38 ไร่ ใน 1 ฤดูกาลเพาะปลูก เปรียบเทียบก่อนและหลังเข้ารับการอบรม IPM มาโชว์ ในการแสดงผลงานทางวิชาการโรงเรียนเกษตรกร (Field day) ปี 2557 ที่ ศฝช.อุตรดิตถ์ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

นิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการโรงเรียนเกษตรกรนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้สรุป นำเสนอองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับ ทั้งระหว่างเกษตรกรทั้งที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ภูมิปัญญา ตลอดจนภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและเตรียมตัวเข้าสู่อาเซียน ซึ่ง นายอาส พ้นเหตุ ผอ.ศฝช.อุตรดิตถ์ เล่าว่า ศฝช.อุตรดิตถ์ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดำเนินการจัดอบรมวิทยากรแกนนำ IPM ในปีงบประมาณ 2556-2557 จำนวน 3 รุ่น รวมทั้งสิ้น 93 คน ในจำนวนนี้ มีทั้งเกษตรกร ครู กศน. และบุคลากรจาก กศน.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 8 คน โดยทุกคนต้องมาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติจริง กิน-นอน ที่ศูนย์ฯในหลักสูตร 60 วัน จากนั้นแต่ละคนต้องไปขยายผลสอน IPM ให้เกษตรกรเครือข่าย อีก 20-25 คน ซึ่งเรียกว่า “จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกร” มีระยะเวลาเรียนอย่างน้อย 1 ฤดูกาลเพาะปลูก ตั้งแต่เพาะเมล็ดไปจนถึงเก็บเกี่ยว และนำผลงานมาแสดงนิทรรศการ จึงจะได้เป็นวิทยากรแกนนำ และยังสามารถนำความรู้มาเทียบโอนวุฒิการศึกษากับ กศน.ได้อีกด้วย

คุณลุงมานพ ยืนยันว่า ความรู้ที่ได้จากการอบรม IPM ทำให้สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีได้ ส่งผลให้ต้นทุนในการทำนาลดลงได้ถึง 60,072 บาทต่อฤดู และเพิ่มผลผลิตจากที่เคยได้ข้าวเปลือกไม่ถึง 30 เกวียน เพิ่มเป็น 40 เกวียน เรียกว่ามีผลผลิตเกินที่นา ซึ่งสอดคล้องกับ นายมานะ มูลมา อายุ 43 ปี ชาวนา รุ่นที่ 4 ของตระกูล จากหมู่บ้านเดียวกัน บอกว่า ที่บ้านทำนากว่า 100 ไร่ หลังจากเข้ารับการอบรมทำให้ตนได้ค้นพบต้นเหตุของปัญหา และจัดการปัญหาได้ตรงจุด เมื่อก่อนไม่รู้คิดว่าแมลงทั้งหมด คือ ศัตรูตัวร้าย แต่พอได้เรียนรู้ระบบนิเวศ ก็รู้ว่า แมลงมีทั้งตัวดีและตัวร้าย มีทั้งมิตรและศัตรูของพืช สามารถใช้น้ำหมักสมุนไพรไล่และกำจัดหนอนห่อใบข้าวได้ ซึ่งตนไม่ได้ใช้สารเคมีมา 4 ฤดูกาลทำนาแล้ว เมื่อก่อนใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีมาก จนไม่กล้าเก็บข้าวที่ปลูกกับมือไว้กินเอง แต่ตอนนี้ต้องปันข้าวส่วนหนึ่งไว้กินเอง เพราะมั่นใจในความปลอดภัย

“เสน่ห์ของหลักสูตร IPM อยู่ที่รูปแบบวิธีการเรียนรู้ที่ให้ค้นพบด้วยตนเอง เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยใช้ท้องนา และแปลงผักของเกษตรกรเป็นสื่อให้สังเกต ทดลอง ตั้งแต่เพาะปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ รู้จักใช้ชีววิธี คือ การนำเอาสิ่งมีชีวิตเข้ามาควบคุมสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองในการกำจัดแมลงศัตรูพืช แทนการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง รู้จักจัดการกับศัตรูธรรมชาติ โดยเริ่มจากผู้เรียน กับ ครู หรือ วิทยากร ร่วมกันสำรวจแปลงนา แปลงผัก แล้วนำสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นมาตั้งเป็นโจทย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันแก้ปัญหา” น.ส.
วาสหนา มโนคำ ครูอาสาสมัคร ศฝช.อุตรดิตถ์ และวิทยากรพี่เลี้ยง ฉายให้เห็นภาพกระบวนการเรียนรู้ พร้อมบอกว่า IPM ซึ่งเน้นในเรื่องของการปลูกพืชที่แข็งแรง โดยรบกวนระบบนิเวศเกษตรให้น้อยที่สุดนี้ สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรได้จริง

หลายปีแล้วที่สำนักงาน กศน. ได้ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร The Field Alliance และ Kemi ราชอาณาจักรสวีเดน ในการพัฒนาเผยแพร่ความรู้จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ IPM ให้แก่ ครู กศน.และเกษตรกร เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่ง ดร.กล้า สมตระกูล ประธานมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าวว่า โครงการเกษตร IPM เป็นการเรียนรู้ในวิถีชีวิตจริง และสามารถนำกระบวนการนี้ไปประยุกต์ใช้กับทุกปัญหาในชีวิตได้ และยังรู้วิธีการถ่ายทอดด้วย ซึ่งตนมองว่าหลักสูตร IPM นี้ สามารถสร้างเป็นหลักสูตรอาเซียนได้ ทั้งการเรียนในระบบและนอกระบบโรงเรียน โดยทางมูลนิธิจะทำโครงการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เป็นหลักสูตรอาเซียนต่อไป

โครงการดี ๆ แบบนี้ เป็นอีกตัวอย่างของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ยอดเยี่ยม และควรมีการสานต่อไม่ให้หยุดชะงักไป.

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา 00:00 น.



21/11/2557