"ณรงค์”เข้าศธ.วันแรก ชูธงปฏิรูปการศึกษา เร่งพัฒนาไอที เดินหน้าศึกษาทาง

\"ณรงค์”เข้าศธ.วันแรก ชูธงปฏิรูปการศึกษา เร่งพัฒนาไอที เดินหน้าศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

วันที่ 12 กันยายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหาเรือ (ผบ.ทร.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. และพลโทสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. เดินทางเข้าทำงานที่ศธ. วันแรก ถือฤกษ์ 13.30 เข้าสักการะพระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรี สัฎฐีอนุสรณ์ศึกษาทรรังสรรค์ พระพุทธรูปประจำกระทรวง ศาลพระภูมิเจ้าที่ และพระบรมอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการศธ. ให้การตอนรับ โดยพล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เป็นโอกาสแรกที่ตนและรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ได้พบกับผู้บริหารองค์หลัก และข้าราชการ ซึ่งคนในศธ. ก็ยินดีรับตนและรัฐมนมนตรีช่วยทั้ง 2 คนเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกหนักใจกับงานใหม่เพราะงานในศธ. ซับซ้อนกว่างานในกองทัพเรือ การบริหารกองทัพเรือ ก็คือบริหารคน ให้ทำงานตามระเบียบ ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง เช่น สั่งให้คนไปขับเรือ ถ้าเขาขับเรือได้ก็ถือว่าการทำงานสมบูรณ์ แต่งานศธ. ซับซ้อนกว่าการขับเรือ เป็นการขับเคลื่อนคนที่มีทั้งครู และนักเรียน จะต้องใช้ศิลปะ จิตวิญญาณ ความเป็นครูทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้นักเรียนประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ ซึ่งตนก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามได้พูดคุยและแจกการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โจทย์สำคัญก็คือ การที่ศธ. ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดันจากสังคมที่ไม่สามารถจัดการศึกษาได้ตามเป้า และไม่สอดรับกับงบประมาณที่ได้รับจำนวนมาก เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ศธ. จะต้องปรับปรุงและปฏิรูป


พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายที่ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานรับไปดำเนินการ แยกเป็น 3กลุ่ม คือ กลุ่มที่1 นโยบายทั่วไป ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ ได้แก่ 1.การพัฒนาและการปฏิรูปการศึกษา ตามแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติและที่ได้แถลงนโยบายไว้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่มานำมาประยุกต์ใช้ 3.การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 4.การส่งเสริมและยกสถานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม และ 5.การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานในกระทรวงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนภายใต้หลักธรรมมาภิบาล ปราศจากการทุจริตและคอรัปชั่น รวมทั้งต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม

กลุ่มที่ 2 นโยบายเฉพาะ เป็นนโยบายสามารถใช้เวลาดำเนินการให้เห็นผลได้ภายใน 1 ปี ได้แก่ 1.การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดสภาคใต้ 2.การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4.การมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ 5.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย 6.การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2558 ของ ศธ.และ 7.การดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา และ

กลุ่มที่ 3 นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ คือ 1 สำรวจให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟู โรงเรียน สถานศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเร็ว 2 แก้ปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบ 3 เร่งสร้างค่านิยม และปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา 4 ทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอน 5 ทบทวนเงินอุดหนุนรายหัว 6 เร่งขยายบทบาทของภาคเอชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา 7ปรับระบบการบรรจุ และทบทวนมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่เหมาะสมเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น 8 เร่งทบทวนมาตรการจัดกิจกรรมรับน้อง 9 ทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา ทั้งกิจกรรมทัศนศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งนักเรียน นักศึกษา และ10 ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“การทำงานของศธ. จะต้องสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล สภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ (สปช) และสภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา จะต้องสอดรับกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าสมัครเป็นสปช. จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพราะฉะนั้นเมื่อมีสปช. เข้ามาจะเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาได้ดีขึ้น เมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการศธ. ก็มีความหนักใจ เพราะเกิดมาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมารับตำแหน่งแบบนี้มาก่อนเลย เมื่อมารับแล้วก็เต็มที่ ต้องทำให้ดีที่สุดสุดความสามารถและผมก็ไม่ได้ทำคนเดียว ผมมีรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. และข้าราชการศธ. ซึ่งทุกคนยืนยันว่าจะร่วมมือร่วมใจกัน ตำแหน่งรัฐมนตรีศธ. เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้มา ส่วนความคาดหวังในใจของผม คือเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผล ซึ่งการปฏิรูปการศึกษา สามารถขับเคลื่อนพร้อมกันในทุก ๆ ด้าน ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร ปฏิรูปหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการผลักดันให้ผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษามากขึ้น ในอนาคตไม่ใช่ปริญญาตรีสร้างชาติ แต่ต้องเป็นอาชีวะสร้างชาติ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนค่านิยมของคนเพื่อให้สัดส่วนเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มเป็น 50-60% ให้ได้ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อยู่ที่ 70%” พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวและว่า

ส่วนการแบ่งงานนั้นจะเรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า แต่เบื้องต้นได้หารือร่วมกันแล้วว่า ต้องปรับปรุงวิธีแบ่งงาน ยังคงแบ่งการดูเป็นไปตามองค์กรเหมือนแต่งานใดที่ต้องเกี่ยวเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน อย่างเช่น การปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงตั้งแต่พื้นฐานถึงอุดมศึกษา ก็อาจจะต้องมอบให้เป็นภารกิจเฉพาะเรื่องให้แต่ละคนด้วย


ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:45:40 น.



12/09/2557