ทักษะภาษาจะตัดสินว่า เด็กไทยจะแข่งกับเขาได้ไหม

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อรายงานของ World Economic Forum (WEF) ที่บอกว่ามาตรฐานการศึกษาของไทยเป็นอันดับที่ 7 ของอาเซียนก็ตาม, ก็ต้องยอมรับว่าความสามารถของการแข่งขันของเด็กไทยในวันข้างหน้ามีปัญหาแน่

ใครไม่เชื่อว่ามาตรฐานอุดมศึกษาของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียนก็คงต้องหาเหตุผลและหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่าเราแพ้ก็แต่สิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ผมเดินอยู่ใน “วัดแห่งวรรณกรรม” (“วันเมี่ยว” หรือ Temple of Literature ที่มีประวัติยาวนานเป็นพันปี) ที่กรุงฮานอยก็เห็นเด็กเวียดนามกลุ่มหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการถ่ายทำ, เปิดหน้าและซักซ้อมการอัดภาพและเสียงวีดีโออย่างคึกคัก

ผมเข้าไปทักทายเพราะอยากรู้ว่าเด็กหน้าตาสดใสและกระตือรือร้นกลุ่มนี้ทำอะไรอยู่

เด็กผู้ชาย 2 และผู้หญิง 2 คนในกลุ่มนี้ตอบคำถามผมอย่างฉาดฉาน คล่องแคล่วเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีอาการขวยเขิน ขี้อาย ม้วนต้วนเหมือนที่ผมมักจะเจอกับเด็กไทยเมื่อต้องตอบคำถามง่าย ๆ ธรรมดา ๆ

ได้ความว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นนักเรียนมัธยม 1 กำลังถ่ายทำสถานที่ประวัติศาสตร์ของประเทศตนเองแห่งนี้เป็น 1 ใน 5 จุดที่มีความสำคัญในอดีตสำหรับประเทศเพื่ออธิบายความผ่านวีดีโอที่ทีมนี้ถ่ายเอง, ตัดต่อเอง, เขียนสคริปท์เอง, เปิดหน้าเอง, และบรรยายให้เห็นความเชื่อมโยงของสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ทั้ง 5 แห่งภายใน 3 นาที

ผมซักถามได้ความต่อว่าเด็กที่ถือกล้องนั้นสามารถตัดต่อเองได้ขณะที่อีกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรและอีกคนหนึ่งเป็นผู้กำกับ และที่เหลือเป็นทีมงานหาข้อมูลและเขียนสคริปท์เพื่อร่วมกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จส่งครูและนำเสนอเพื่อน ๆ อย่างรอบด้าน

ผมถามว่าเขาใช้กล้องอะไร และโปรแกรมตัดต่ออะไร

นักเรียนเวียดนามที่ถือกล้องคนนั้นตอบอย่างไม่ลังเลว่า

“I use Sony camera – and Vegas program for editing, also After Effects program.”

ผมรู้ทันทีว่าเด็กคนนี้ทำจริงรู้จริง

เด็กนักเรียนทั้ง 5 คนฟังภาษาอังกฤษได้ ส่วนใหญ่ตอบโต้กับผมได้ และมีสีหน้าตื่นเต้นยินดีที่ได้มีโอกาสสนทนากับคนต่างชาติที่สนใจว่าพวกเขาและเธอกำลังทำอะไรอยู่

ผมสัมผัสได้ถึงความเป็น “อาเซียน” ของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของคุณภาพของเยาวชนเวียดนามทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นประสบการณ์ที่บอกผมว่าไม่ว่าเวียดนามติดอันดับความสามารถในการแข่งขันของการสำรวจของ WEF อยู่ที่เบอร์อะไร แต่ประเทศนี้กำลังเร่งฝีเท้าในเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่

พาดหัวหนังสือพิมพ์ Vietnam News วันเดียวกันนี้ไม่ใช่เรื่องอาชญกรรม ไม่ใช่เรื่องเซเลป และไม่ใช่เรื่องความเก่งกล้าสามารถของรัฐบาล

แต่เป็นประเด็นว่ารัฐบาลกำลังจะสร้างห้องเรียนเพิ่มอีก 5,000 ห้องทั่วประเทศเพื่อให้เด็กมีที่เรียนเพิ่มขึ้น

และปรับปรุงมาตรฐานของครูให้สามารถตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

หนึ่งในคำถามของการสำรวจ WEF เจาะประเด็นผลประเมินจากการสอบถามผู้ประกอบการว่าพึงพอใจกับบัณฑิตแค่ไหน

และไทยได้คะแนนน้อยก็เพราะระดับอุดมศึกษาไทยยังผลิตคนที่ไม่ตอบสนองผู้ประกอบการ

เราเห็นภาพเมืองหลวงเวียดนามคึกคักและแออัดไปด้วยคนหนุ่มสาวบนมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนนั้นสอบถามได้ความว่าส่วนใหญ่ไปเรียนพิเศษภาคค่ำ

ไม่ใช่เรียนเพื่อติวพิเศษเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นการไปเรียนพิเศษเพิ่มทักษะทางภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ (ไม่ใช่ฝรั่งเศสหรือรัสเซียเหมือนในอดีต)

เพราะเขาตระหนักแล้วว่าหากเขาจะอยู่รอดปลอดภัยในอาเซียนได้, เขาต้องสื่อสารกับคนทั่วไปด้วยภาษาที่คนอาเซียนเข้าใจ

เยาวชนเวียดนามกำลังเตรียมตัวให้ได้ภาษาระดับเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะเรื่องคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ไม่มีใครด้อยกว่าใคร

การสื่อสารด้วยภาษาสากลต่างหากที่จะพิสูจน์ว่าใครจะอยู่แถวหน้าพร้อมจะช่วงชิงโอกาสใหม่ ๆ ของเวทีที่เปิดกว้างสำหรับประชากร 600 ล้านคน

เขามองข้ามไทยไปแล้ว!

ที่มา:โอเคเนชั่นบล๊อก วันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2557



29/09/2557