เปิดตัวแอปพลิเคชั่น′FoodiEat′ช่วยคำนวณพลังงานอาหาร

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงานเปิดตัวแอปพลิเคชัน \"FoodiEat\" โปรแกรมบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย ว่า แอปฯดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อคนไทย และมีประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ใช้งานบันทึกในแอปฯนั้น จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของผู้พัฒนาระบบ

โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลทำให้เห็นภาพชัดว่า คนไทยรับประทานอะไร อย่างไร มากน้อยเกินไปหรือไม่ จะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลทางด้านสาธารณสุขได้ อย่างเช่น ข้อมูลที่ว่าคนไทยมีแนวโน้มอ้วนเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีข้อมูลมาสะท้อนว่าเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานมาเกินไปอย่างไร ซึ่งแอปฯนี้ถือเป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคมตามนโยบายของรัฐบาล และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างฐานข้อมูลโภชนาการอาหารไทยของประเทศ

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า จากการสำรวจรูปร่างสรีระคนไทยในปี 2550-2551 หรือไซส์ไทยแลนด์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์แบะคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พบว่าสัดส่วนของคนไทยมีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น 34% หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น บริโภคอาหารจานด่วน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล การขาดออกกำลังกาย ซึ่งเนคเทค สวทช. ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน \"FoodiEat\" เพื่อเป้นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเสริมสร้างค่านิยมในการบริโภคและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง


นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า แอปฯดังกล่าวออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ทั้งระบบ iOS และ Android สามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และคำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกายในแต่ละมื้อ และแต่ละวัน โดยจะมีการให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพโดยตรงผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกายของผู้ใช้ ซึ่งแอปฯนี้ พัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2554

ส่วนเวอร์ชันล่าสุดได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อยอดจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลทั้งคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย ผลไม้ ฉลากโภชนาการอาหาร ขนม และเครื่องดื่มกว่า 3,000 รายการจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้จะเป็นคลังข้อมูลสำคัญที่ใช้ต่อยอดในงานวิจัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 18:07:04 น.



17/02/2558