ฟินแลนด์เชื่อคุณภาพการศึกษาอยู่ที่พัฒนาครูให้สอนเด็กเป็นนักคิดนักอ่าน

นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 22 คน เดินทางไปศึกษาดูงานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และกรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 12-18 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา

สภาพของประเทศฟินแลนด์
สาธารณรัฐฟินแลนด์ อยู่ในกลุ่มยุโรปตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับสวีเดน นอร์เวย์ และรัสเซีย มีประชากร 5 ล้านคนในพื้นที่ 300,000 ตารางกิโลเมตร การปกครองแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ รัฐ และ 432 เทศบาล แบ่งการปกครองเป็น 6 จังหวัด และ 90 เขตปกครองท้องถิ่น มีทะเลสาบ 187,886 แห่ง และเกาะอีก 179,584 เกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสน อากาศหนาวเย็นตลอด 8 เดือน มีช่วงพระอาทิตย์เที่ยงคืน 73 วัน ในช่วงฤดูร้อน และไม่ขึ้นเลย 51 วันในช่วงฤดูหนาว ภาษาที่ใช้คือฟินแลนด์และสวีเดน นโยบายการเมืองสำคัญที่สุดที่มีส่วนเร่งการพัฒนาของประเทศฟินแลนด์คือใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์
ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่อายุ 7-16 ปี โรงเรียนรัฐจะบริการอาหารกลางวันฟรี มีการจัดเตรียมอุดมศึกษาในสายสามัญและอาชีวศึกษาและในระดับอุดมศึกษาจะมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาขั้นสูง จากการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD-PISA) ปี พ.ศ. 2546 พบว่านักเรียนอายุ 15 ปี ของฟินแลนด์ทำคะแนนนำสูงสุดในความสามารถด้านการอ่าน และวิทยาศาสตร์ และ ได้อันดับสองด้านคณิตศาสตร์และการแก้ปัญหา นอกจากนี้ เวิล์ด อีโคโนมิกฟอรัม จัดอันดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นอันดับ 1 ของโลก ประชากรที่อายุเกิน 15 ปี อ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนผู้เรียนการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย มีจำนวน 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากร

การปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์
ฟินแลนด์ได้เริ่มปฏิรูปหลักสูตรใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2515 โดยจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เน้นให้เด็กทุกคนได้เรียนโดยเทศบาลเป็นผู้จัดการศึกษา ต่อมาได้เปลี่ยนหลักสูตรอีก 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2528 2537 และ 2547 โดยเน้นให้ท้องถิ่นได้พัฒนาหลักสูตรสอดคล้องความต้องการผู้เรียน และเน้นความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชน ผู้ปกครองและองค์กรที่เข้ามาช่วยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นโยบายการศึกษาเน้นการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีส่วนร่วม และความเสมอภาคทางการศึกษา


-2-


ปัจจัยความสำเร็จของการศึกษา
ฟินแลนด์มีนโยบายระดับชาติในการสร้างสังคมฐานเศรษฐกิจความรู้ ระบบการศึกษาที่บูรณาการอย่างลงตัว การทำงานระหว่างส่วนราชการในส่วนกลางและท้องถิ่น การส่งเสริมกิจกรรมนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัย และเน้นการผลิตครูที่มีศักยภาพโดยครูต้องจบการศึกษาศึกษาศาสตร์อย่างน้อยในระดับปริญญาโท

งานบริหารบุคคลของข้าราชการครูฟินแลนด์
ครูได้รับเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 2,555 ยูโร (112,420 บาท) ต่อเดือนไปจนถึงสูงสุด 5,000 ยูโร (220,000 บาท) ต่อเดือน จำนวนครูประถม 45,000 คน ครูมัธยม 7,300 คน ครูอนุบาลและประถมศึกษา 7,200 คน อาจารย์อาชีวศึกษา 14,000 คน อาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวะชั้นสูง 6,000 คน และอาจารย์มหาวิทยาลัย 7,700 คน รวม 87,200 คน โดยเทศบาลจะเป็นผู้พิจารณาระดับเงินเดือนของครูใหญ่/ อาจารย์ใหญ่ ส่วนสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนของอธิการบดีมหาวิทยาลัย ส่วนครูแต่ละคนจะได้รับเงินเดือนตามภารกิจและผลงานซึ่งครูใหญ่/ อาจารย์ใหญ่/ อธิการบดี เป็นผู้พิจารณา โดยมีสมาคมวิชาชีพครู/ สหภาพครู เข้ามาดูแลเจรจาต่อรองได้ อัตราเงินเดือนนี้ องค์กรท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดสรร ส่วนรัฐบาลสนับสนุนเพียงบางส่วน โดยมีการกำหนดระดับซีสำหรับข้าราชการครูด้วย เช่น ครูอนุบาลจะเริ่มจาก C56 ชั่วโมงของการทำงาน 16-24 ชั่วโมงสอน หากทำงานเกินจำนวนที่กำหนดจะได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู
สำนักงานสภาการศึกษา กระทรวงการศึกษาฟินแลนด์จะกำกับมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและจัดบริการฝึกอบรมพัฒนาตลอดชีวิตการเป็นครู ส่วนโรงเรียนจะส่งครูไปฝึกอบรมพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ฟินแลนด์ได้ยกเลิกการใช้ศึกษานิเทศก์ไปแล้วเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา โดยได้เน้นการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริหารสถานศึกษาและครู รวมทั้งได้ทุ่มเทในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยการจัดการเรียนการสอน และการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมใหม่

สภาพภูมิประเทศของประเทศสวีเดน
ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดินีเวีย ในยุโรปเหนือ เขตแดนจรดประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ ช่องแคบสแกเกอร์แรค และ แคทีแกต และอ่าวบอสเนีย มีกรุงสตอกโฮล์มเป็นเมืองหลวง มีประชากร 9 ล้านคน มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงในระดับ 30 ประเทศแรกของโลก (28,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี รายได้สูงกว่าคนไทย 4 เท่า)





-3-


ระบบการศึกษาของสวีเดน
สวีเดนเน้นการดูแลเด็กเล็กช่วงอายุ 1-6 ขวบ โดยจัดหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็กไป-กลับ และโรงเรียนอนุบาลจัดให้ 1 ปี สำหรับเด็กอายุ 6 ปี การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน และบริการรถโรงเรียนอาหารกลางวันและสื่อการเรียนให้ทั้งหมด เช่นเดียวกับฟินแลนด์ และยังมีการจัดทุนช่วยเหลือและกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กจากครอบครัวรายได้น้อยซึ่งต้องการเรียนมัธยมปลายและอุดมศึกษา

กระทรวงการศึกษาและวิจัยของสวีเดน
กระทรวงการศึกษาและวิจัยของสวีเดนรับผิดชอบการศึกษาทุกระดับเช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการของไทยแต่จะรวมงานวิจัยด้วย โดยมีโครงสร้าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการศึกษาภาคบังคับ สำนักงานการศึกษามัธยมปลาย สำนักงานกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานอุดมศึกษา และสำนักงานวิจัย

ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาไทย
จากข้อมูลของฟินแลนด์และสวีเดน สิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำแนวคิดมาใช้พัฒนาคือ
(1) การจัดการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็งมีคุณภาพ
(2) การพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพและการส่งเสริมกิจกรรมนักเรียนเพื่อเปิดเวทีให้เด็กค้นหาความสามารถของตนเอง
(3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียนพ่อแม่และชุมชน ช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และ
(4) การรณรงค์ให้ประชาชนเป็นนักอ่านมีการศึกษาตลอดชีวิตและร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้



ที่มา:www.moe.go.th/charuaypon/works/word_charuaypon_116.doc





29/01/2558