การควบคุมการใช้เครื่องมือสื่อสารสำหรับเด็กอเมริกัน

การควบคุมการใช้เครื่องมือสื่อสารสำหรับเด็กอเมริกัน

เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กๆ มีความชอบพอในสินค้าและบริการไฮเทคดังกล่าวก็คิดว่า การให้เด็กๆ ได้ใช้ด้วยก็จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาเช่นกัน เป็นเหตุให้ในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทย เกิดค่านิยมซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารให้เด็กๆ เยาวชนใช้กัน
ทั้งไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีการแข่งขันในระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนอีกด้วยว่าลูกหลานของใครเป็นผู้ใช้สินค้าไฮเทคด้านสื่อสารที่ก้าวหน้ามากกว่ากัน ดังเราคงเห็นภาพเหตุการณ์ทำนองนี้กลายเป็นภาพธรรมดาในสังคมไทย โดยเฉพาะในสถานศึกษาระดับต่างๆ
เหตุการณ์ทำนองนี้ เมื่อก่อนทำให้ผมแปลกใจมากทีเดียวว่าเด็กไทยของเรามีความทันสมัยมากกว่าเด็กอเมริกันเสียอีก เพราะใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยกว่า ขณะที่เด็กอเมริกันถูกจำกัดในเรื่องการใช้อุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีข้อห้ามที่เข้มงวดอย่างมาก คือ ไม่ให้เด็กใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ด้วยตัวของเด็กเอง แต่จะให้ใช้ในกรณีเพื่อการศึกษาในห้องเรียนหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตนในเรื่องเดียวกันนี้ ไม่แตกต่างไปจากข้อห้ามของโรงเรียน คือ ให้เด็กๆ ใช้อุปกรณ์สื่อสารในเวลาอันจำกัด
อย่าว่าอื่นไกลเลยครับ คนทำงานทั่วไปในอเมริกาส่วนมากก็ไม่ใครค่อยใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่เหล่านี้กันมากนัก ยิ่งการการเกาะติด ประเภทติดตามรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาด้วยท่าทีกระเหี้ยนกระหืออยากจะได้นั้น นับว่ามีจำนวนน้อย ที่ใช้กันทั่วไปก็เพียงพื้นๆ เท่านั้น เช่น โทรศัพท์มือถือที่พอติดต่อกันได้ เป็นต้น
พูดง่ายๆ ก็คือคนอเมริกันส่วนใหญ่โลว์เทคกว่าคนไทยในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารครับ
ผมจึงไม่แปลกใจกับบทสัมภาษณ์ของสตีฟ จอบส์ อดีตซีอีโอของแอปเปิล ที่ลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ เมื่อ ปี 2553 ต่อคำถามที่ว่าลูก ๆ ของเขาคิดอย่างไรกับไอแพด จอบส์ตอบทันทีว่า ลูกผมไม่เคยใช้มันหรอก ผมจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ที่บ้านŽ ขณะที่ นิค บิลตัน ผู้สัมภาษณ์จอบส์บอกว่า จอบส์ไม่ให้เด็ก ๆ ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ในห้องนอนพวกเขาด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ แรนดี้ ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นพี่สาวของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บสังคมอย่างเฟซบุ๊คก็ยังเคยออกหนังสือ Dot เตือนเด็กๆ ให้ใช้ไอแพดในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ใช้โดยไม่ยอมวาง ส่วนอีแวน วิลเลียมส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ก็ไม่อนุญาตให้ลูกทั้งสองคนของเขาใช้ไอโฟนหรือไอแพดเลย เพราะเห็นว่าจะกระทบกระเทือนเวลาในการศึกษาและทำกิจกรรมอย่างอื่นๆ ของลูกซึ่งอยู่ในวัยเด็ก
ก่อนหน้านี้ ก็มีงานวิจัยระบุว่า การให้เด็กๆ ขลุกอยู่กับอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้มากเกินไปในวัยของพวกเขา ทำให้เด็กๆ ขาดการรับรู้เชิงการปฏิสัมพันธ์กับสังคมในรูปแบบที่เป็นจริง เด็กๆ จะเข้าใจว่าตัวเองอยู่ในโลกไซเบอร์อยู่ตลอดเวลา
การเรียนการสอนในโรงเรียนอเมริกัน จึงมีการควบคุมดูแลการใช้อุปกรณ์การสื่อสาร อย่างเช่น สมาร์ทโฟนประเภทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการควบคุมดังกล่าวคือ การห้ามไม่ให้เด็กๆ ใช้นั่นเอง ทุกวันนี้ระบบการเรียนการสอนของอเมริกันก็ยังสอนกันในระดับพื้นๆ ไม่ใช่โยนเครื่องคิดเลขให้เด็กนักเรียนแล้วจบ ถ้าให้ประมาณการแบบคร่าวๆ ผมคิดว่าวิธีการสอนของครูอเมริกันสอนยังเหมือนเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว เพียงแต่มีการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือด้านคอมพิวเตอร์ช่วยในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น
คำตอบของจ๊อบส์และบิลตัน ก็คงจะเหมือนกับคำตอบของซีอีโอของบริษัทคอมพิวเตอร์ในซิลิคอนวัลย์อีกหลายคน ที่ปกติพวกเขาก็ใช้ชีวิตธรรมดาๆ ยิ่งครอบครัวของพวกเขาด้วยแล้วก็ยิ่งธรรมดาไปใหญ่ อย่างที่เมืองซานโฮเซ่ ซึ่งอยู่ในซานตาคลาร่าเคาน์ตี้ ที่ถือเป็นศูนย์กลางของซิลิคอนวัลเลย์ภาพที่พบเห็นได้เสมอในเมืองนี้ คือ ซีอีโอของบริษัทคอมพิวเตอร์และเว็บไซท์ดังต่างๆ พร้อมครอบครัวมารับประทานอาหารตามร้านอาหารใกล้ๆ ที่ทำงานของพวกเขา ซึ่งหากสังเกตดูก็จะเห็นว่าเด็กๆ ที่มาด้วยกันก็นั่งเรียบร้อยตามปกติ ปราศจากอาการสาละวนจิ้มและจ่อมจมอยู่กับสมาร์ทโฟนหรือเกมต่างๆ หมายถึงเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เอาอุปกรณ์ไฮเทคสมัยใหม่มาด้วยแต่อย่างใด
แน่นอนว่า ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม ส่วนหนึ่งมาจากการต่อยอดความรู้เดิม แต่อเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าฐานความรู้จากอุปกรณ์ไฮเทคด้านสื่อสารข้อมูลที่ถูกผลิตขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่าตามกระแสทุนและการตลาด ไม่ใช่เป็นฐานข้อมูลสำหรับต่อยอดความรู้ของเด็กและเยาวชน หากแต่ส่วนสำคัญคือ พวกเขาต้องรับข้อมูลจากฐานล่างสุดของความรู้ก่อน เช่น หลักการ แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็น นักคิดŽไปด้วย ไม่ใช่เป็น นักใช้Ž เพียงอย่างเดียว
ดูเหมือนหลายฝ่าย แม้กระทั่งในอเมริกาจะเห็นผลเสียหายของการใช้สื่อไฮเทคสำหรับเด็กๆ และเยาวชน และฝ่ายที่เห็นผลเสียนี้ได้ออกมาเตือนการใช้อุปกรณ์สื่อสารของพวกเขาหลายครั้ง ในอเมริกาเองมีการรณรงค์เรื่องนี้กันตลอดมา วิธีการก็คือ เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ถึงผลเสียต่อเด็กและเยาวชนที่เสพติดอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยในเรื่องนี้ โดยเงินรณรงค์ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทคอมพิวเตอร์และบริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์ประยุกต์(แอพพลิเคชั่น)
การให้เงินสนับสนุนดังกล่าว เกิดจากการเห็นถึงโทษภัยของการสื่อสารในโลกยุคใหม่ ที่เด็กและเยาวชนติดกันงอมแงมเสมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง
เทคโนโลยีเหล่านี้ คือ ที่มาของรายได้อันมหาศาลของอเมริกัน ซึ่งในอเมริกาจะมีกฎหมายบังคับใช้สำหรับเยาวชนอย่างเข้มงวด เช่น ในโรงเรียนหรือบางสถานที่ แต่เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นใส่ใจต่อเด็กๆ เยาวชนของในชาติของตนเองอย่างไร มากน้อยขนาดไหน
ทั้งน่าสังเกตว่าในประเทศที่พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมตามใจลูกหลานปล่อยให้มี ให้เล่นอะไรต่างๆ บนออนไลน์อย่างเสรี ผลที่ตามมาในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร
เพราะสื่อสมัยใหม่นั้นมีอานุภาพทะลุเข้าไปถึงทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งห้องนอน และเป็นการสื่อสารที่ไร้ข้อจำกัดด้านเวลา คือ เปิดขึ้นมาเมื่อใดก็รับสารได้เมื่อนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดซีอีโอบางคนในซิลิคอนวัลเลย์จึงไม่ยอมให้ลูกที่ยังเป็นเด็กมีคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอน พวกเขาพยายามทำบ้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็กๆ ในครอบครัว
ก่อนหน้านั้น ที่มูลนิธิของ บิลล์ เกตส์ ได้ให้เงินสนับสนุนการทำวิจัยถึงผลกระทบของสื่อสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ และก็ปรากฏว่าสื่อเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนกลุ่มเดียวและยังกระทบต่อคนทุกกลุ่มในแง่ลบทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและสุขภาพกายสุขภาพจิต
รัฐบาลอเมริกันทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางพยายามจับตาและแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบของการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เชิงการสื่อสารไฮเทคอย่างใกล้ชิด และคาดว่าหน่วยงานด้านการออกกฎหมายอย่างสภาคองเกรสอาจจะออกกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่ให้ใช้อุปกรณ์ไฮเทคสมัยใหม่อย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อความปลอดภัยของพวกเหล่านั้นเอง
กฎหมายใหม่ที่อาจจะออกมานี้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่อนุญาตหรือปล่อยปละละเลยให้เด็กใช้อุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์ไฮเทคอย่างไม่เหมาะสมถูกลงโทษไปด้วย
ซึ่งหากมีการออกฎหมายดังกล่าว ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการยืนยันได้อย่างมั่นใจขึ้นว่า พื้นที่บ้านในอเมริกาได้ถูกทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะมากกว่าเดิมขึ้นอีก
เพราะเรื่องของเด็กๆ แท้ๆ


ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ



22/09/2557