กมล”ยืดอกพร้อมรับผิดชอบผลงาน พิจารณาตัวเองถ้าคะแนนโอเน็ตไม่กระเตื้อง

กมล”ยืดอกพร้อมรับผิดชอบผลงาน พิจารณาตัวเองถ้าคะแนนโอเน็ตไม่กระเตื้อง มั่นใจร่วมมือสทศ.อุดจุดอ่อนได้

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวระหว่างการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล ประจำปีงบประมาณ 2557 จำนวน 114 แห่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งเร่งวางแผนด้านวิชาการเพื่อยกระดับศักยภาพของเด็กไทย ซึ่งจะประเมินจากผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2557 ที่จะมีการสอบในช่วงต้นปี 2558 และขอให้นักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยเกินร้อยละ 50 หรืออย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้หากคะแนนในภาพรวมนั้นเฉลี่ยโอเน็ตทั้งประเทศไม่เพิ่มขึ้นจากประมาณไม่เกินร้อยละ 40 ในปีก่อน ตนพร้อมจะพิจารณาตัวเอง และพร้อมย้ายไปปฏิบัติหน้าที่อื่นหากผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร

\"ผมเป็นข้าราชการ คงไม่สามารถพูดต่อผู้บังคับบัญชาได้ว่า หากไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจจะขอลาออก ข้าราชการ ทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็เป็นเหมือนความในใจ เป็นความตั้งใจที่จะพยายามผลักดันให้ผลการจัดการศึกษาดีขึ้น เนื่องจากงานด้านการศึกษาใช้เวลายาวนานเป็นสิบปีกว่าจะเห็นผล แต่คะแนนโอเน็ตก็สามารถเป็นคำตอบให้สังคมได้ ผมจึงตั้งใจจะใช้ตัวนี้เป็นเกณฑ์ในการประเมินตัวเองด้วย”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สำหรับคะแนนโอเน็ตเฉลี่ยระดับประเทศปีล่าสุด ระดับชั้น ม.3 มี 7 จาก 8 วิชาที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 45 โดยวิชาที่ได้น้อยที่สุดคือ คณิตศาสตร์ที่ได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 25.45 ขณะที่วิชาที่มีคะแนนสูงสุดคือสุขศึกษาร้อยละ 58.30 ซึ่งสอดคล้องกับผลคะแนนโอเน็ตระดับชั้น ม.6 ที่วิชาที่ได้คะแนนสูงสุดและเกินร้อยละ 50 มีวิชาเดียว คือ สุขศึกษา 62.03 ส่วนอีก 7 วิชาได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยวิชาที่คะแนนต่ำที่สุดคือ คณิตศาสตร์ เพียงร้อยละ 20.48

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ตนมั่นใจว่าจะสามารถยกระดับคะแนนนักเรียนในปีหน้าได้ เพราะตอนนี้ได้เตรียมการร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ในการนำโครงสร้างข้อสอบมาวิเคราะห์เพื่อปรับการเรียนการสอนของโรงเรียน และยังนำข้อมูลผลสอบซึ่งชี้ชัดว่า เด็กโรงเรียนใด จังหวัดใด อ่อนวิชาใด เพื่อจัดการเรียนการสอนเสริมในจุดอ่อนอย่างเข้มข้น ซึ่งตนจะต้องบีบทั้งตัวเองและบีบโรงเรียนให้ทำให้ได้ เพราะเราทำงานด้านการศึกษาต้องมีความรับผิดชอบ เรามีอำนาจในการทำงานแล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบต่อผลงานด้วย

ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่ได้แนะนำให้เด็กไทยต้องเรียนมากขึ้น นั้น ตนเห็นด้วย และยืนยันว่าแนวทางการปรับหลักสูตรในปัจจุบันไม่ได้ต้องการให้เด็กเรียนน้อยลง แต่มุ่งให้มีความเครียดน้อยลง โดยอาจต้องปรับเปลี่ยนการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น เรียนในห้องครึ่งวัน ช่วงบ่ายทำกิจกรรมเสริม เป็นต้น


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ 10 กันยายน 2557 เวลา 19:05 น.



11/09/2557