“รศ.พญ.สมลักษณ์ จึงสมาน” บุคคลตัวอย่างแห่งปี 2557

รศ.พญ.สมลักษณ์ จึงสมาน “บุคคลตัวอย่างแห่งปี 2557” สาขาการแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม กับการศึกษาประสิทธิผลของแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันในผู้ป่วยและผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

รศ.พญ.สมลักษณ์ จึงสมาน รองคณบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณเป็น “บุคคลตัวอย่างแห่งปี” พุทธศักราช 2557 สาขาการแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม (เบาหวาน) จาก ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องค์มนตรี ซึ่งเป็น 1 ใน 80 บุคคลตัวอย่าง ของบุคคลตัวอย่างทั้งประเทศที่ได้รับรางวัล ในโครงการหนึ่งล้านความดี ถวายในหลวง ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงานรางวัลไทย ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 โดยการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลเกียรติยศนี้ ถือเป็นงานรองรับและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่าด้วยคนดีและความดีทดแทนคุณแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ซึ่งคณะกรรมการได้สรรหาบุคคลต้นแบบในหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบคุณงามความดี มีวินัย มีความสามารถ และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร สังคมและประเทศชาติ ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมต่อไป

รศ.พญ.สมลักษณ์ มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม (เบาหวาน) ซึ่งส่วนหนึ่งของผลงานที่โดดเด่น คือ การศึกษาประสิทธิผลของแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ต่อการลดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และควบคุมภาวะเมตาบอลิกในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันจำนวน 3 แคปซูล 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน สามารถลดภาวะการแข็งของหลอดเลือด และภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันอย่างชัดเจน และยังสามารถลดระดับไขมันร่างกายทั่วไป (total body fat) ระดับไขมันใต้ผิวหนัง (visceral fat)

รศ.พญ.สมลักษณ์ ยังได้ทำการวิจัยในประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน (prediabetes population) จำนวน 240 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน 3 แคปซูล 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 9 เดือน พบว่าหลัง 9 เดือน 16.4% ของกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอกได้ถูกวินิจฉัยว่า เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในขณะที่ไม่พบผู้ที่กลายเป็นเบาหวานในกลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้น และยังตรวจพบว่ามีการทำงานของเซลเบต้าซึ่งเป็นเซลของตับอ่อนที่สร้างอินซูลินดีขึ้น รวมทั้งมีผลข้างเคียงน้อยมาก

รศ.พญ.สมลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแผนในการนำแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันต่อยอดนำมาศึกษาในเรื่องของภาวะอ้วนและภาวะไขมันพอกตับ เสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในขณะนี้ และเป็นโรคที่เป็นภาวะแทรกซ้อนในคนที่เป็นเบาหวาน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และได้รับการสนับสนุนยาจากองค์การเภสัชกรรม คาดว่าจะสำเร็จภายในกลางปี 2559 ถือว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ทำต่อเนื่องกับองค์การเภสัชกรรมอีกงานหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาสารสกัดขมิ้นชัน มีข้อบ่งชี้สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยหลายโรค และในอนาคตหากถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ทั่วถึง

“ต้องขอขอบคุณองค์การเภสัชกรรมที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพและให้การสนับสนุนในเรื่องการผลิตยาที่นำมาใช้ในการรักษาได้ ในอนาคตองค์การเภสัชกรรมจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ มีคุณภาพออกมาให้กับประชาชนคนไทยได้ใช้ต่อไปอย่างแน่นอน” รศ.พญ.สมลักษณ์ กล่าว


ที่มา:หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันอาทิตย์ ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558, 16.10 น.



15/02/2558