คนไทยกับการอนุรักษ์ภาษาไทยหน้าที่ที่ต้องทำ

วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหนึ่งที่คนไทยจะได้รำลึกถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ที่เราคนไทยรู้จักและใช้กันมาตั้งแต่เกิด แต่บ่อยครั้งที่ความไม่รู้หรือเพราะเผอเรอทำให้ใช้ออกไปอย่างผิด ๆ ยิ่งในปัจจุบันภาษาไทยถูกนำมาใช้แบบผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันในโลกโซเชียลหรือสังคมออนไลน์ ดังนั้นในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2557 นี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้กลับมาเริ่มต้นการให้ความสำคัญ และร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาท้องถิ่น ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนาน ให้ฟื้นกลับคืนมา

’เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้“

พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาและการใช้ภาษาไทยอย่างมาก เรียกได้ว่าทรงเป็นต้นแบบของการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง และกลายเป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงห่วงใยด้านภาษาไทยถิ่นด้วย ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานในคราวเดียวกันว่า “ภาษาก็เป็นศิลปะเหมือนกัน อาจไม่ทราบว่าภาษามาจากไหน ภาษาของไทยเราเป็นของจริงอยู่ที่ไหน เพราะว่าเราพยายามก่อขึ้นมา โดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีความรอบคอบพอ แล้วก็แพร่ไปต่างจังหวัด ไปทำลายภาษาพื้นเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันความบริสุทธิ์ของภาษา เห็นด้วยในการที่เราควรจะรักษา ภาษาภาคเหนือ ภาคใต้ ต้องระวังรักษาให้ดี ๆ เพราะเป็นแหล่งที่จะไปศึกษาภาษาโดยแท้”

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า ราชบัณฑิตยสถานถือเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ และเป็นองค์กรพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลการใช้ภาษาไทย และอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม รวมถึงยังส่งเสริมภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น

“ทุกวันนี้สังเกตเห็นว่ามีการใช้ภาษาไทยทั้งภาษาปากและภาษาเขียนอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งในสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ภาษาของสื่อมวลชน ในการเขียนข่าว บทความ ก็มีการนำภาษาที่ไม่เป็นทางการมาใช้ปะปนในภาษาเขียน ดังนั้นราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ภาษาไทยที่ถูกต้องจึงรู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจ เพราะนอกจากจะเขียนผิดกันแล้ว ยังมีการนำคำหยาบ และคำรุนแรงมาใช้อย่างแพร่หลาย จึงเกรงว่าจะเป็นความเคยชินและถ่ายทอดไปถึงเด็กรุ่นหลังได้”เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) พูดถึงภาษาไทยว่า ทั้งภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน แต่ปัจจุบันภาษาไทยถูกนำเสนอในมิติต่าง ๆ ผ่านสื่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้ศัพท์สแลงของวัยรุ่นที่มีผลทำให้ภาษาไทยดั้งเดิมถูกเปลี่ยนแปลงไป จึงอยากฝากคนไทยทุกคนใช้ภาษาไทยในบริบท

ต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม ว่าใช้กับใคร โดยคำนึงถึงการใช้ว่าต้องไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดี โกรธเคือง ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อหมดยุคไปภาษาที่เคยนำมาใช้ก็จะถูกลืม เพราะภาษาไทยมีชีวิตและมีพลัง ซึ่ง วธ.เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างมากจึงได้มอบรางวัลและโล่เชิดชูเกียรติ แก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยเป็นประจำทุกปี

ขณะที่ นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เจ้าของผลงานเพลงเพื่อชีวิต สะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมทุกยุคทุกสมัยผ่านทางบทเพลง พูดได้อย่างกินใจว่า ศิลปินกับคนแต่งเพลงมีความคล้ายกัน คือ เวลาเลือกคำมาใช้จะมีลักษณะเฉพาะ โดยไม่จำกัดว่าเป็นคำเก่าหรือคำใหม่ เช่นเดียวกับคำพูดของเด็กสมัยนี้ที่พูดศัพท์ใหม่ คำใหม่ เช่น จุงเบย นั้นอย่าถือมาเป็นอารมณ์เพราะเป็นโลกส่วนตัว เมื่อโตขึ้นก็จะเลิกพูดเลิกใช้ไปเอง แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เด็กรู้จักรักในรากเหง้าของเราเรื่องภาษาไทย ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกราชที่มีภาษาเป็นของตนเอง จึงต้องร่วมกันรักษาประวัติศาสตร์และเอกราชของชาติไว้ให้ดี

เมื่อพูดถึงเรื่องภาษาไทย วันนี้หลายคนคงนึกเลยไปถึงการสอนภาษาไทยแบบอ่านเรียงตัว ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยมีทั้งเสียงชื่นชมถึงความแปลกใหม่ที่สามารถทำให้เด็กอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็ว กับอีกความรู้สึกเป็นกังวลว่า สิ่งที่เด็กได้รับการถ่ายทอดนั้นถูกทางและเหมาะสมแล้วหรือยัง เพราะหากดูกันจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่าการสอนอ่านแบบเรียงตัวนั้นง่ายต่อการนำไปเขียน แต่การเรียนรู้และอ่านคำใหม่ก็ใช่ว่าจะง่ายดายเสียหมดทุกคำ เอาเป็นว่านี่ก็เป็นปัญหาโลกแตกบนพื้นฐานความเชื่อ การวิจัย และการทดลองที่ทำกันมา จะบอกว่าใครผิดใครถูกคงไม่ได้

สุดท้ายเรื่องของการสอนและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องคงไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของครูผู้สอนเท่านั้น แต่คนไทยทุกคนที่ใช้ภาษาไทยจำเป็นต้องระลึกเสมอว่า ภาษาไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย การพูด-อ่าน-เขียนอย่างถูกต้องจึงถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป.

อาภากร สำอางค์ญาติ

ขอบคุณ:หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันอังคาร 29 กรกฎาคม 2557 เวลา 00:00 น.



29/07/2557