เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ชี้ีไทยต้องปฏิรูปคุณภาพการศึกษาทุกด้าน

เมืื่อวันที่ 5 ก.ย.57 น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลการจัดอันดับจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันนานาชาติ (Global Competiveness Index: GCI) ฉบับล่าสุดปี 2557 โดยเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum: WEF) ได้เผยแพร่ผลความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเปรียบเทียบกับนานาชาติ ในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่า
ประเทศไทย ไต่อันดับสูงขึ้น 6 อันดับ จากเดิมปี 2556 อยู่ที่อันดับ 37 จาก 148 ประเทศ เป็นอันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศในปีนี้ ขณะที่มาเลเซียถีบตัวเข้าสู่อันดับรวมที่ 20 ได้เป็นครั้งแรกนับแต่มีการจัดอันดับ ส่วนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามก็ไต่อันดับสูงขึ้น
โดย WEF ใช้เกณฑ์พิจารณาจาก 3 หมวด ได้แก่ 1) ปัจจัยพื้นฐาน อาทิ สถาบันด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานฯ 2) ปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ อาทิ ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน การศึกษาขั้นสูง ฯ และ 3) ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ
น.ส.ธันว์ธิดา ยังกล่าวต่อไปว่า WEF ประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับกลาง โดยมีคะแนนค่อนข้างดีด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และการพัฒนาทางการเงิน สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากคือคุณภาพระบบการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 87 ซึ่งมีอันดับถดถอย 9 อันดับจากปี 2556 โดย WEF ยังได้วิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย 8 อันดับแรก ดังนี้ 1) ปัญหาคอรัปชั่น 2) ความไม่มั่นคงทางการเมือง 3) ระบบราชการ 4) ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย 5) ขาดความสามารถเชิงนวัตกรรม 6) ขาดระบบเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน 7) ขาดคุณภาพการศึกษาแรงงาน และ 8) ขาดจริยธรรมการทำงานแรงงาน
\"เมื่อพิจารณาภาพรวมการจัดอันดับด้านการศึกษาของไทยเปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่า อัตราการเข้าเรียนทุกระดับ (ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา) ดีขึ้น แต่ด้านคุณภาพการศึกษาทุกระดับ อันดับไทยถดถอย โดยคุณภาพของระบบการศึกษาและคุณภาพประถมศึกษาถดถอย 9 และ 4 อันดับตามลำดับ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ WEF เน้นย้ำว่าไทยต้องเร่งพัฒนา\"
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศพบว่า ไทยต้องรีบพัฒนาอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ คุณภาพประถมศึกษา (อันดับที่ 6) คุณภาพระบบการศึกษา (อันดับที่ 6) และคุณภาพการจัดการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ (อันดับที่ 6)
ทั้งนี้วิธีการได้มาของข้อมูล WEF จะให้น้ำหนักกับการสำรวจความคิดเห็นและการให้คะแนนของผู้ประกอบการในธุรกิจ (Executive Opinion Survey) ถึง 2 ใน 3 ส่วนและอีก 1 ส่วนที่เหลือมาจากข้อมูลเปรียบเทียบเชิงสถิติที่สำคัญขององค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก โออีซีดี ยูเนสโก และองค์การอนามัยโลก เป็นต้น


ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ



06/09/2557