รื้อกระทรวงศึกษาฯ ล้างคอร์รัปชัน

การออกคำสั่ง คสช.ที่ 7/2558 สั่งให้คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. พ้นตำแหน่งจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2558 เปรียบเหมือนสายฟ้าฟาดลงมาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นับเป็นครั้งแรกหลังจากการปฏิรูปการศึกษา 2542 ที่มีการ \"โละทั้งยวง\" ที่เปรียบเสมือนเป็นการล้างบาง กรรมการทั้ง 3 ชุดที่ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อ ศธ.ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์กร 5 แท่ง อีกทั้งยังสั่งให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงินทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใดของคุรุสภา สกสค. และองค์การค้าของ สกสค. และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของบุคคลที่กล่าวไปข้างต้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และรายงานผลการตรวจสอบให้หัวหน้า คสช.ทราบโดยเร็ว
เหตุใด คสช.จึงเลือกเชือด 3 องค์กรเป็นกระทรวงแรก หลังประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งว่ากันว่าเป็นยาที่แรงกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก ถ้าประเมินจากภาพรวมของคุรุสภา สกสค. และองค์การค้า สกสค. ก็จะพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของครู แต่ก็มีข่าวคราวฉาวโฉ่เกี่ยวกับการทุจริต ที่เห็นชัดคือองค์การค้าคุรุสภา ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ สกสค.ก็มีข่าวเกี่ยวกับการใช้เงินไม่ชอบมาพากล โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. สั่งให้มีการสอบสวนนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค. ที่นำเงินจากองทุนของ สกสค.ไปลงทุนในบริษัทเอกชนถึง 2,100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนผิดประเภท แต่นายสมศักดิ์กลับอ้างว่าสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายของ สกสค. และการลงทุนดังกล่าวยังให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ เงิน 2,100 ล้านบาทที่ไปลงทุนบริษัทเอกชนคือ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดกรุ๊ป จำกัด ทำโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เลขาฯ สกสค.ยังอ้างอีกว่าการบริหารเงินโดยไปลงทุนในบริษัทเอกชน คณะกรรมการที่ดูแลด้านการลงทุนของกองทุนยังรับรู้และเห็นด้วย เขาไม่ได้ทำโดยพลการ ขณะที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. ซึ่งเป็นประธานบอร์ด สกสค.ชุดใหญ่ ไม่เคยรับทราบการลงทุนลักษณะนี้มาก่อน
ที่ผ่านมา สกสค.ดูแลผลประโยชน์ด้านสวัสดิการให้ครูที่มีเงินในกองทุนกว่า 5 พันล้าน รายได้หลักมาจากเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือครู ที่เรียกว่า ช.พ.ค. เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม หรือที่เรียกว่า ช.พ.ส. ที่มีอยู่ 1.4 ล้านคน ซึ่งเก็บจากครูคนละ 500 บาท หรือมีเงินไหลเข้ากองทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง สกสค.ดำเนินการมา 65 ปี และ สกสค.ยังเป็นผู้บริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายก่อนเกษียณของครูอีกด้วย นอกจากปัญหาที่เลขาธิการ สกสค.นำเงินไปลงทุนเอกชนเกือบ 1 ใน 3 ของเงินในกองทุนทั้งหมดแล้ว ที่ผ่านมายังมีสมาชิกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการบริหารงานของ สกสค.ที่ส่อความไม่โปร่งใส อย่างโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 360 ล้านบาท ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ประสบความล้มเหลว บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการได้ไม่ถึง 10% และล่าสุดทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการสรุปผลสอบสวนกรณีดังกล่าว พบข้อพิรุธในหลายประเด็น ซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ รมว.ศธ. ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยมี นพ.กำจร ตันติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงชุดดังกล่าวด้วย
ด้านคุรุสภาเอง ก็มีอำนาจหน้าที่ในการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งครูจะต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี และเสียค่าธรรมเนียมคนละ 500 บาท เมื่อคูณกับจำนวนครูทั้งประเทศที่มีหลายแสนคน ก็เป็นผลประโยชน์จำนวนไม่ใช่น้อย ส่วนองค์การค้าคุรุสภาซึ่งเป็นเครือข่ายในสังกัด สกสค.เอง ก็มีหน้าที่ผลิตตำราเรียนป้อนให้กับโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนเอกชนต่างๆ ผลประโยชน์ของคุรุสภาที่ผ่านมา เรียกว่าแทบจะมาจากการขายตำราเรียนที่เกือบเป็นการผูกขาด แต่คุรุสภาก็มีปัญหาทุจริตภายในองค์กร และประสบปัญหาด้านการเงินสาหัสมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นปัญหาเรื้อรัง แม้จะผ่านรัฐบาลมาหลายชุด แต่ก็ยังแก้ไม่ตกจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอธิบายเหตุผลที่เป็นทางการ ว่าเหตุใดจึงสั่งปลดกรรมการทั้ง 3 บอร์ดให้พ้นหน้าที่ แต่ร่องรอยที่เป็นสาเหตุหลักน่าจะมาจากปัญหาทุจริตความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน จึงนับได้ว่าบอร์ดทั้ง 3 ชุดเป็นการประเดิมล้างบางการโกงกิน คอร์รัปชัน ที่ คสช.ประกาศตั้งแต่เริ่มแรกของการยึดอำนาจ ว่าจะต้องทำเป็นสิ่งแรกของการปฏิรูปประเทศ.


ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ Apr 20, 2015



20/04/2558