ทำยังไง ให้คนเก่ง และดี อยู่กับองค์กร นานๆ

Q : เศร้าใจ คนเก่งทำงานดี แต่กลับไม่อยากอยู่ กับองค์กร ส่วนคนที่อยากให้ไป กลับอยู่นาน

A : หาสาเหตุก่อน ว่าพวกพนักงานเก่งๆ เหล่านั้น จากองค์กร ไปเพราะเหตุใด

บางทีการสัมภาษณ์ตอนลาออก (Exit Interview) เพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ความจริงมากนัก เพราะพนักงานบางคน กลัวผลกระทบ หรือไม่อยากสร้างศัตรู เพราะ “แผลยังสดอยู่” หลายๆ องค์กรในปัจจุบัน ทิ้งเวลาสัก 6-8 เดือน หลังจากพนักงาน ลาออกไปแล้ว โทรไปสัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงเหตุผลที่แท้จริง ของลาออก พบว่าพนักงานจำนวนไม่น้อย ให้ข้อมูล ตามความเป็นจริงมากขึ้นกว่าตอนทำ Exit Interview

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเก่งๆ ออกจากองค์กรมี 2 ปัจจัย

1. ปัจจัยดึงจากภายนอกองค์กร เช่น การซื้อตัวจากคู่แข่ง งานใหม่ที่มีตำแหน่งและ เงินเดือนสูงกว่าที่ได้รับอยู่ พ่อแม่ เรียกกลับไปทำงาน ของครอบครัว โอกาสในการทำธุรกิจส่วนตัว ที่ให้อิสระและ รายได้ที่มากกว่า เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ แก้ยากมาก เพราะเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้น้อยหรือแทบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น หากพนักงาน ออกไปเพราะปัจจัยดึงจากภายนอก เพียงอย่างเดียว องค์กรคงทำได้แค่ ยื่นข้อเสนอที่ดีกว่า (Counter Offer) หรือทำใจปล่อยไป

2. ปัจจัยดันจากภายใน เช่น ลักษณะงานที่ไม่ท้าทาย พฤติกรรมแย่ๆ ของหัวหน้างาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือสถานที่ทำงาน (ไกลไป ร้อนไป เหม็นไป ) เป็นต้น ปัจจัยนี้แก้ง่ายกว่า เพราะอยู่ภายใต้ การควบคุมของผู้บริหารและ องค์กร

หากพบว่า พนักงานเก่งๆ ส่วนใหญ่ ออกไปเนื่องจากปัจจัยภายใน ให้ลองทำดังนี้

1. พัฒนาหัวหน้างาน ในเรื่องทักษะ การบริหารจัดการ เพื่อให้เข้าใจ บทบาทและ หน้าที่ของการเป็นหัวหน้าที่ดี ต้องเข้าใจว่า พนักงานจำนวนไม่น้อย ลาออกเพราะหัวหน้า

2. เปรียบเทียบเงินเดือน ของพนักงาน ที่มีศักยภาพที่ยังเหลืออยู่ กับผลการสำรวจ ค่าจ้างปีล่าสุด (ลองเสิร์ชหาคำว่า “ผล การสำรวจค่าจ้าง ประจำปี 2557”) ถ้าค่าจ้างของพนักงานเหล่านี้ อยู่ในระดับต่ำกว่า อัตราสูงสุด (Maximum) ของตำแหน่งงานนั้นๆ ไม่เกิน 25% (ศัพท์เทคนิคเรียกว่าอยู่ในระดับ Percentile ที่ 75) ถือว่ายังแข่งขันได้ แต่ถ้าต่ำกว่า Maximum เกิน 25% ควรหาทางปรับเพิ่ม เป็นกรณีพิเศษ

3. จัดทำการสำรวจ ความพึงพอใจ ของพนักงาน เพื่อตรวจสอบดูว่า นอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ที่ทำให้พนักงาน ไม่พอใจและ ลาออกไปอีกหรือไม่

4. ถ้าบริษัทใหญ่พอ (มีคนประมาณ 2-300 คน ขึ้นไป) หาทางจัดทำ “แผนความก้าวหน้าในอาชีพ” (Career Plan) เพื่อให้พนักงาน เห็นว่าการทำงาน ที่องค์กรนี้ มีโอกาสเติบโตอย่างไร

5. จัดกิจกรรม ระหว่างพนักงาน กับผู้บริหาร และระหว่างพนักงาน ด้วยกันเอง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะในเชิงจิตวิทยา เชื่อว่า การมีเพื่อนสนิทหรือสังคมที่ดี มีผลต่อความผูกพัน ของพนักงาน

หวังว่าคำตอบ คงพอจะเป็นแนวทางได้

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
[email protected]



ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์



21/02/2558