มีอีก‘ขรก.โกง’ ร้องเรียนคึกคัก ไล่บี้มาเฟียศธ.

ปราบโกงเริ่มคึกคัก เลขาฯ ป.ป.ท.เผย ตามไล่บี้ข้าราชการขี้ฉ้อเพิ่ม ส่งรายชื่อใหม่ทุกเดือน ร้องเรียนเป็นร้อยๆ เรื่อง โดยเฉพาะรุกป่า ยอมรับกล้าตรวจสอบมากขึ้นเพราะรัฐบาลเอาจริง เผยนายกฯ สั่งพบผิดไม่ย้ายอย่างเดียว ฟันวินัยด้วย ระบุ 3-4 ปีที่ผ่านมาทำอะไรแทบไม่ได้ ด้าน \"ศรีราชา\" เผยตามล่ามาเฟีย ศธ.งาบโครงการหมื่นล้าน แฉผู้บริหารกระทรวงรับเงินจากกลุ่มนี้เดือนละ 1.5 แสน

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้มอบหมายให้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมข้าราชการที่ทุจริตชุดแรกว่า ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงการให้ตรวจสอบให้ละเอียดเท่านั้น เช่น เกษียนหรือยัง ข้อหาอะไร ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความถูกต้อง เป็นรายชื่อในกลุ่มเดิม เพียงแต่ให้มาตรวจทานให้ถูกต้องอีกที จากนั้นรองนายกฯ จะนำรายชื่อที่มีการตรวจทานแล้วทั้งหมดส่งให้นายกฯ อีกที ทุกอย่างก็จะจบที่นายกฯ

\"ผมไม่สามารถลงรายละเอียดอะไรได้ ซึ่งทั้งนายกฯและท่านวิษณุขอไว้เลยว่าไม่อยากให้พูด เพราะมันอาจไปกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายได้ หากยังไม่จบพูดไปก็จะไม่ดี ซึ่งท่านจะเป็นผู้ให้ข่าวเอง\"

ถามว่า ในส่วนของ ป.ป.ท. ยังมีรายชื่อข้าราชการทุจริตในล็อต 2 อยู่อีกหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ท.ตอบว่า เรื่องนี้ทาง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ได้กำหนดให้มีการประชุมกันทุกเดือน หากหน่วยงานไหนมีร้องเรียนมา และตรวจสอบแล้ว ก็ส่งมาได้ตลอด หรือเรื่องใดที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องและยังตรวจสอบไม่เสร็จ โดยหลักการคือการดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า หรือบางคนหากอยู่ในตำแหน่งแล้วอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ นายกฯ จึงเห็นว่าควรจะหยิบออกมาจากจุดนั้น ซึ่งหลังจากส่งรายชื่อในบัญชี 1 ไปแล้ว เราก็ทำงานไป ถ้ามีมาก็เสนอขึ้นไปเรื่อยๆ

เขากล่าวว่า ขณะนี้ใน ป.ป.ท.มีการร้องเรียนเข้ามาเยอะแยะ หลังจากมีข่าวการทุจริต 100 ข้าราชการ มีร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ เดือนหนึ่งเป็นร้อยๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งรายย่อย รายใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องบุกรุกป่าที่กำลังมีการตรวจสอบกันในขณะนี้ จะมีคนที่กล้าร้องเข้ามามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง หน่วยงานต่างๆ ทำได้ ความจริง ศอตช.ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญ

\"ถ้าไม่มี ศอตช. ไม่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ลงมาทำการขับเคลื่อนก็คงลำบาก ตรงนี้จึงถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งระบบ\"

ถามถึงการดำเนินการกับข้าราชการที่ทุจริต ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว นายประยงค์แจงว่า ในการโยกย้ายคงทำอะไรไม่ได้ เพราะเกษียณไปแล้ว แต่ในทางอาญาก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ต้องรีบดำเนินการในส่วนของคดีอาญา

เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ ทำขณะนี้ มันไม่ใช่การย้ายอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ คนที่ทุจริตอยู่แล้ว หากปล่อยไว้ที่เดิม เดี๋ยวก็ไปทุจริตอีก เพราะการไปขอพยานหลักฐานอะไรก็ติดขัดไปหมด แต่พอโยกย้ายไปปุ๊บ ก็จะได้ 2 อย่างคือ แก้ปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ และการดำเนินการทำได้เร็ว พอย้ายและเร่งรัดให้ดำเนินการทางวินัย เท่ากับเป็นการลงโทษให้เร็วขึ้น ปัญหาที่ผ่านมาคือการลงโทษช้า ทำให้ถูกมองว่าปราบปรามไม่ได้ผล คนไม่กลัว แต่มาตอนนี้พอพบทุจริต มีหลักฐานชัดเจน ย้ายออก ลงโทษทางวินัย ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นขึ้น\"

\"ที่ผ่านมา 3-4 ปี เราทำอะไรเขาไม่ได้เลย แต่ตอนนี้แม้ว่าเราเอาเขาติดคุกไม่ได้ แต่เขาก็ถูกไล่ออก และถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งระบบ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่มีข่าวจะย้ายข้าราชการ 100 คนก็มีแรงกระเพื่อมแล้ว คนที่คิดจะทำก็แขยงไป ซึ่งผมว่าแบบนี้ดี แต่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ปีนี้จับทุจริตได้รายหนึ่ง รอไปอีกจนปลายปีโน่นจึงจะจับได้อีกรายหนึ่ง ไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรในภาพรวมเลย แต่อย่างนี้พอหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันก็พรึ่บทีเดียว ดังนั้นเราต้องรักษาแนวทางตรงนี้ไว้ ”

ซักว่า เป็นห่วงเรื่องการถูกฟ้องกลับจากข้าราชการเหล่านี้หรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ท.ตอบว่า เราก็ต้องเสี่ยง ซึ่งวิธีที่จะไม่ให้ข้าราชการฟ้องกลับก็คือเราต้องทำอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา รัดกุมที่สุด มีหลักฐานชัดเจน แต่ถ้าไปกลั่นแกล้งเขา เราก็โดนเมื่อนั้น ดังนั้นเราต้องมั่นใจในข้อมูลหลักฐานที่เรามีอยู่

วันเดียวกันนี้ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็กำลังตรวจสอบความไม่โปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการอีกกรณีหนึ่ง และอาจมีความเกี่ยวโยงกับกรณีแรก แต่กรณีนี้มีมูลค่าสูงไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท และอาจถึงหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

เขาระบุว่า ความไม่โปร่งใสดังกล่าวทำให้เกิดมาเฟียในกระทรวงศึกษาธิการขึ้น และเม็ดเงินดังกล่าวก็เป็นเงินที่เลี้ยงคนกลุ่มดังกล่าว โดยเป็นเงินที่มาจากสวัสดิการทั้งหลายในกระทรวง ทั้งนี้ มีข้อมูลว่ามีผู้บริหารบางตำแหน่งได้เงินจากคนกลุ่มดังกล่าวประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เซ็นคำสั่งตามที่กลุ่มมาเฟียต้องการ ซึ่งตอนนี้ตนยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก เพราะเดี๋ยวจะทำให้ไก่ตื่น และมีการปิดบังข้อมูลได้ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ก็เพื่อกำจัดคนที่ไม่ดีออกจากกระทรวงศึกษาธิการให้หมด เพราะถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่การปฏิรูปการศึกษา ก็คงจะไม่มีทางสำเร็จ

นายศรีราชากล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังจะตั้งทีมงานเข้าไปดูข้อมูลในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว คงจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน และหลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนและสามารถสรุปเรื่องได้แล้ว ก็จะทำการเสนอชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้หัวหน้า คสช. พิจารณาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 44 เพื่อโยกย้ายข้าราชการกลุ่มดังกล่าว และอาจมีการส่งรายชื่อเพิ่มเติมไปอีก เพราะหากตรวจสอบข้อมูลแล้วไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเราก็ต้องตรวจสอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้ จะสามารถกำจัดความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการได้ทั้งหมดหรือไม่ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินตอบว่า ก็ต้องรอดูข้อมูลที่ได้มาก่อน หากเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นอีก เราก็ต้องตรวจสอบต่อไป.

ที่มา:นสพ.ไทยโพสต์ Apr 26, 2015



26/04/2558