การศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์ : บทเรียนและบาดแผล

สิ่งที่ชาวฟินแลนด์ถือเป็นความภูมิใจที่สุดมีอยู่สองอย่าง คือ โทรศัพท์มือถือของโนเกียที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งของโทรศัพท์มือถือและระบบการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ความยิ่งใหญ่ของโนเกียได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว นักวิชาการด้านการศึกษาชาวฟินแลนด์หลายคนเริ่มกังวลใจว่า สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาของฟินแลนด์อาจเจอกับชะตากรรมเดียวกันกับโนเกียก็เป็นได้

ในช่วงประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โลกโซเชียลมีเดียของไทยมีการแชร์เรื่องคุณภาพการศึกษาของฟินแลนด์ว่าดีที่สุดในโลกกันอย่างแพร่หลาย ความเชื่อนี้เกิดจากการที่คะแนนสอบ PISA (Programme For International Student Assessment) ของฟินแลนด์ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก และทำคะแนนดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาตลอด

อย่างไรก็ตาม คะแนนสอบ PISA ครั้งล่าสุดในปี 2012 พบว่า ฟินแลนด์กลับถูกประเทศในเอเชียอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ร่วมกันเบียดจนตกอันดับ แถมโดยภาพรวมแล้ว คะแนนที่นักเรียนฟินแลนด์ทำได้ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ก็ลดลงเมื่อเทียบกับการทดสอบในปี 2009

หรือการศึกษาของฟินแลนด์จะสิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า ลักษณะสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้การศึกษาในฟินแลนด์ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งโดยสรุปแล้วลักษณะสำคัญ 7 ข้อที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษามีดังนี้

ข้อแรก คุณสมบัติของครู ครูในฟินแลนด์ทุกคนต้องเรียนจบระดับปริญญาโท โดยครูที่สอนระดับประถมศึกษาจะเรียนวิชาเอกด้านการศึกษา ส่วนครูที่สอนในระดับสูงกว่านี้ จะเลือกวิชาเอกในสาขาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น อีกทั้งครูที่สอนในระดับนี้ ยังต้องเรียนวิชาที่สอนให้ครูรู้จักนำความรู้ในเนื้อหามาผนวกกับวิธีสอน เพื่อให้ครูสามารถออกแบบเนื้อหาการสอนได้อย่างเหมาะสม

ข้อสอง หลักสูตรมีความยืดหยุ่น หลักสูตรของฟินแลนด์จะมีทั้งส่วนที่เป็นแกนกลางซึ่งนักเรียนทุกคนทั่วประเทศต้องเรียนเหมือนกัน และหลักสูตรในส่วนที่ปรับให้เข้ากับในแต่ละพื้นที่ ทำให้โรงเรียนและครูมีอิสระในการปรับเนื้อหาและรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของนักเรียนในแต่ละพื้นที่

ข้อสาม เด็กฟินแลนด์เข้าเรียนช้า เด็กฟินแลนด์เริ่มเข้าเรียนในระบบการศึกษาเมื่ออายุครบ 7 ขวบ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และเติบโตผ่านการเล่น เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถลางานเพื่อเลี้ยงลูกได้ถึง 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่พบว่า การเข้าเรียนเร็ว ไม่ได้ทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนขั้นสูงมากกว่าเด็กที่เข้าเรียนช้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเด็กไทยส่วนใหญ่เข้าเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลตอนอายุ 3 ถึง 4 ขวบ แต่คะแนนสอน PISA กลับตามหลังเด็กฟินแลนด์ที่เข้าเรียนช้ากว่าถึงราว 80 ถึง 100 คะแนน ในทุกวิชา

ข้อสี่ การสอบไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด เด็กฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องสอบแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนเด็กไทย ด้วยความที่ครูหนึ่งคนดูแลเด็ก 12 คน ทำให้การประเมินผลการเรียนของเด็กแต่ละคนสามารถทำได้อย่างใกล้ชิด การประเมินความก้าวหน้าของเด็กจึงไม่ต้องพึ่งของสอบเพียงอย่างเดียว ผลงานด้านอื่นๆ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน จะถูกนำมาพิจารณาในการประเมินผลของเด็กด้วย ผลพลอยได้ประการหนึ่งของการเลิกใช้การสอบมาชี้ชะตาเด็กก็คือ เด็กสามารถมีชั่วโมงพักที่ยาวถึง 75 นาทีในตอนกลางวัน

ข้อห้า ครูฟินแลนด์สอนน้อย ครูฟินแลนด์มีชั่วโมงสอนต่อปีประมาณ 600 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ครูแต่ละคนต้องสอนไม่ต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี

ข้อหก รัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงิน โรงเรียนในฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ และครูได้รับเงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับหนึ่ง จึงสามารถทุ่มเทกับการสอนได้อย่างเต็มที่

ข้อเจ็ด ครูได้รับการยอมรับ ครูเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรีเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคม นอกจากนี้ครูยังสามารถเข้าร่วมกับสหภาพ ทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้บริหารโรงเรียน และหน่วยงานด้านการศึกษา

ในเมื่อระบบการศึกษาของฟินแลนด์มีจุดเด่นขนาดนี้ แล้วทำไมคะแนนสอบ PISA ถึงได้ร่วงลงมาได้ขนาดนี้?

ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด จากการศึกษาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของฟินแลนด์ พบว่า ข้อสาเหตุหลักมีสองข้อด้วยกัน

สาเหตุแรก คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของยุโรปที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ครอบครัวมีเวลาและทรัพยากรในการดูแลเด็กน้อยลง รัฐบาลเองก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น

สาเหตุที่สอง คือ การที่ลดชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมให้เหลือเพียง 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษามีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียนเนื้อหาในระดับสูงได้ ซึ่งต่างกับเด็กในเอเชียที่ใช้เวลาเรียนคณิตศาสตร์มากกว่า

แม้ว่าสาเหตุทั้งสองประการนี้ จะสร้างบาดแผลให้กับความภูมิใจของชาวฟินแลนด์ที่มีต่อระบบการศึกษา แต่ก็เป็นบาดแผลที่สามารถเยียวยาได้ไม่ยากนัก เพราะเชื่อกันว่า อีกไม่นานเศรษฐกิจยุโรปก็คงจะเริ่มเดินหน้าได้อีกครั้ง และปัญหาการอ่อนคณิตศาสตร์คงได้รับการแก้ไข สิ่งที่นักการศึกษาชาวฟินแลนด์กังวลกันว่าจะสร้างบาดแผลในระยะยาวก็คือ เด็กเอเชียทำคะแนนได้ดีกว่า ไม่ใช่เพราะฉลาดกว่า เขาทำได้ดีกว่าด้วยการทำงานหนักกว่า

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับ แม้อันดับของฟินแลนด์จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก หากเลือกจะไต่อันดับให้สูงขึ้น ด้วยการเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนหนักไปทำข้อสอบ คะแนนที่สูงขึ้นของประเทศ จะต้องจ่ายด้วยรอยยิ้มที่หายไปของเด็กๆ เห็นราคาที่ต้องจ่ายแล้ว บอกได้เลยว่า ยังไงก็ไม่คุ้ม

Tags : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ที่มา:หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ



30/01/2558