การศึกษา: การสอน การเรียนรู้

การศึกษาคือกระบวนการที่มีผู้สอนและผู้เรียน โดยจุดประสงค์ก็คือให้มีความรู้ในเนื้อหาที่มีการกำหนดแล้วว่าเป็นสิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ทั้งในแง่ข้อมูล ความรู้ ความคิด และทักษะในการประกอบวิชาชีพ ถ้ามองในแง่หนึ่งการศึกษาจะนำไปสู่สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน 6 ประการด้วยกัน
1) ข้อมูล (data) ซึ่งได้แก่ ข้อมูลดิบที่ผู้เรียนควรจะรู้ เช่น จำนวนประชากรของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ หรือประชากรของเมืองหลวงของประเทศของตน เป็นต้น
2) ความรู้ (knowledge) เกิดจากการที่วิเคราะห์หาตัวแปรของข้อมูลตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป เช่น เมืองและแม่น้ำ เมืองมักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำด้วยเหตุผลหลายประการอันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว นี่คือความรู้
3) เมื่อมีข้อมูลมีความรู้ก็จะนำไปสู่ความคิด (idea) เช่น สสารและความร้อนเป็นสองตัวแปร สสารรับความร้อนจะขยายตัว ความคิดที่เกิดขึ้นก็คือการวางรางรถไฟ หัวรางจะต้องห่างกันประมาณหนึ่งเซ็นต์เพื่อเปิดช่องว่างระหว่างการขยายตัว มิฉะนั้นจะโก่งขึ้นจะทำให้ตกรางได้
4) การปฏิบัติ (practice) เช่น การนำรางรถไฟมาวางตามความคิดที่สรุปได้จากข้อ 3)
5) การเรียนรู้ (learning) กระบวนการทั้งข้อ 1-4 จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจอันเกิดจากทางทฤษฎีและปฏิบัติก็จะนำไปสู่ความรอบรู้
6) หลังจากมีความรอบรู้แล้ว ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ก็จะทำให้กลายเป็นคนที่มีความคิดแตกฉาน จนเข้าใจสภาพแวดล้อมและปรากฏการณ์ต่างๆ อันจะนำไปสู่ปรีชาญาณ หรือปัญญา (wisdom) ซึ่งปรีชาญาณนี้จะส่งผลถึงการพัฒนาของจิตวิญญาณ (soul) เพราะ wisdom หรือปรีชาญาณย่อมประกอบด้วยความเข้าใจในสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งมีจิตใจที่เอนเอียงไปในทางศีลธรรมและจริยธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็กลายเป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นสัตว์ประเสริฐ นี่คือจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการศึกษา
บุคคลที่มีคุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าวจึงกลายเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นครูหรือผู้สอน ถ่ายทอดสิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นให้กับผู้เรียนที่เรียกว่านักเรียนหรือนักศึกษา โดยมีการกล่าวโดย William Arthur Ward ที่กล่าวว่าครูมี 4 ประเภท
1. ครู \"ปรกติทั่วไป\" ได้แค่ \"บอกเล่า\"
2. ครู \"ที่ดี\" ทำหน้าที่ \"อธิบาย\"
3. ครู \"ที่เหนือกว่า\" ใช้วิธี \"แสดงให้เห็น\"
4. ครูที่ \"ยิ่งใหญ่\" นั้น \"สร้างแรงบันดาลใจ\"
\"The mediocre teacher tells. The good teacher explains. The superior teacher demonstrates. The great teacher inspires.\" William Arthur Ward
ผู้สอนที่ดีจะต้องเป็นผู้สอนที่ทำให้เกิดปัญญา จุดประกายความคิดให้นักศึกษาคิดตาม และสามารถจะคิดวิเคราะห์ หาเหตุหาผล จนสามารถจะคิดเองเป็น ไม่ถูกครอบงำโดยตำรับตำราแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎี เพราะเชื่ออย่างผิดๆ ว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ สรุปคือต้องให้สอดคล้องกับหลักกามาลสูตรของพระพุทธเจ้า
ประเด็นที่สำคัญก็คืออาจารย์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้หายากยิ่ง เพราะส่วนใหญ่โดยประเพณีการเรียนและการสอนของสังคมไทยก็คือการพรรณนาความหรือเล่าให้ฟังโดยเล่าจากความทรงจำที่ตนจำได้ หรือจากการที่อ่านและบันทึก จึงเอาสิ่งที่มาบันทึกนั้นมาเล่าให้นักศึกษาฟังต่อไปโดยไม่มีการคิดวิเคราะห์ว่ามีเหตุมีผลน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ดังนั้น ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เพียงแต่ได้ความรู้ที่เป็นข้อมุล คือ จำข้อมูลดังกล่าว และถึงแม้จะมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุก็เพียงแต่การจำการวิเคราะห์นั้นจากการอ่าน การวิเคราะห์ที่จำมาก็คือข้อมูลการวิเคราะห์ แต่ไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เกิดจากคิดโดยคิดร่วมกัน หรือคิดโดยต่างคนต่างคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้สอนก็ใช้วิธีอ่าน จำ หรือจด มาเล่าต่อให้นักศึกษาทราบ ถ้าเป็นกรณีของภาษาต่างประเทศก็แปลเป็นภาษาไทยและจำเนื้อหาที่แปลนั้นมาบอกให้นักศึกษาฟังอีกต่อหนึ่ง อาจารย์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเหตุและผล และไม่สามารถจะเป็นแรงบันดาลใจตามที่วิลเลียม อาร์เธอร์ วอร์ด ได้กล่าวไว้ อาจารย์ลักษณะเช่นนี้ทำการสอนเช่นเดียวกับการที่ร้องเพลงดูเนื้อหาคำร้องจากจอ หรือที่เรียกว่า คาราโอเกะ ผู้สอนเยี่ยงนี้ก็คืออาจารย์คาราโอเกะ หรือ kara-oke teacher
ในกรณีของนักศึกษานั้นเมื่อวิธีการสอนของอาจารย์เป็นลักษณะ kara-oke teacher นักศึกษาก็จดและจำคำสอนของอาจารย์เพื่อจะนำไปตอบข้อสอบที่อาจารย์ได้ถามความจำเป็นหลัก และถึงแม้จะมีการถามให้คิดวิเคราะห์ ก็จะเป็นการจำคำวิเคราะห์ที่อ่านมาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นข้อมูล อาจจะเพิ่มเติมบ้างก็เป็นส่วนน้อย เมื่อผสมผสานกับการประเมินโดยใช้ความจำ ก็จะกลายเป็นการเรียนการสอนที่ผิดหลักการศึกษา กระบวนการทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นการนำไปสู่การเป็นนักศึกษาที่มีลักษณะเป็น kara-oke student เช่นเดียวกับอาจารย์ การเรียนรู้อย่างรอบรู้ (learning) จึงไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ การคาดหวังจะให้เกิดปรีชาญาณ (wisdom) จึงเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย
นอกเหนือจากนี้ โดยความหละหลวมของพฤติกรรมและส่วนหนึ่งมีผลมาจากวัฒนธรรมที่ไม่จริงจัง ขาดระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ได้นำไปสู่สิ่งซึ่งเป็นจุดลบต่อการเรียนของนักศึกษาโดยมีประเด็นต่างๆ ที่ควรจะต้องพิจารณาคือ
1. นักศึกษาที่ดีควรจะเป็นนักศึกษาที่มีความตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อจะได้เกิดความคิด จึงต้องตรงต่อเวลาซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รักษาเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ล้าหลัง จำต้องมีการอ่านล่วงหน้าเพื่อให้มีพื้นฐานในเนื้อหานั้นที่มีการแจกในห้องเรียน เพื่อจะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจ เมื่อมีการบรรยายต้องพยายามฟังอย่างตั้งใจ จับประเด็นสำคัญซึ่งเป็นประเด็นหลัก ไม่ใช่จดทุกอย่างที่ผู้สอนพูดโดยไม่เข้าใจประเด็น ขณะที่ฟังต้องมีการคิดตามด้วยว่ามีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ มีจุดอ่อนอย่างไร นี่คือประเด็นการเรียนต่างๆ ที่สำคัญในเบื้องต้น
2. จุดสำคัญที่สุดก็คือต้องถือการศึกษาเป็นเรื่องจริงจัง ให้ความสำคัญ โดยจะต้องรักษาเวลาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ต้องมาให้ทันกับเวลาการเข้าเรียนเพราะอาจารย์บางคนเป็นคนตรงต่อเวลา สิ่งซึ่งปรากฏคือนักศึกษาจำนวนไม่น้อยมาสาย บางครั้งสายถึงครึ่งชั่วโมง บางครั้งหนึ่งชั่วโมง ทั้งๆ ที่อยูในวิสัยมาตรงเวลาได้ และเริ่มมีการเรียนเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงบางคนก็เดินออกจากห้องเพื่อเข้าห้องน้ำ หรือไปรับโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ได้มีการปิดโทรศัพท์ ที่น่าเกลียดคือมีการพูดคุยกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ ทำให้ผู้สอนเสียสมาธิและรบกวนผู้อื่น หรือในขณะที่มีการบรรยายอยู่ผู้มาสายก็ทักทายเพื่อนๆ จนทุกคนหันไปทักทายที่เรียกว่าทำให้วงแตก ซึ่งเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่ง ปกติโดยมารยาทจะต้องหลบเข้าไปอย่างเงียบๆ ไม่ทำให้เกิดการชะงักงันของกระบวนการเรียนการสอน และเมื่อมีการพักเรียนเพื่อทำธุระ 15 นาที มักจะกลับมาห้องเรียนสายเช่น บางครั้งกลับมาหลังจาก 25 นาที บางครั้งครึ่งชั่วโมง และเมื่อพักเที่ยงแทนที่จะกลับมาเรียนต่อบ่ายโมงตรงบางคนมาสาย 20-30 นาที โดยไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องตรงต่อเวลา และการมาสายเช่นนั้นจะเสียโอกาสการเรียนรู้ประเด็นต่างๆ ถ้าเรียนกับอาจารย์ที่มีการสอนแบบวิเคราะห์ ยกประเด็นสำคัญอันมาจากการสั่งสมมาเป็นสิบๆ ปี การขาดเรียนครึ่งชั่วโมงเท่ากับขาดหนังสือ 20 เล่มที่มีการกลั่นมาแล้วโดยผู้สอน โดยผู้ที่เข้าห้องสายไม่มีความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และไม่มีบาดแผลในเรื่องจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบและวินัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นบางคนก็นั่งสับประหงกจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามเป็นภาพที่น่าเกลียดอย่างยิ่ง
3. นักศึกษาจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจว่าการศึกษาที่มีคุณภาพคือการมานั่งฟังประเด็นสำคัญเพื่อจะช่วยจุดประกายความคิด ทำให้ตนสามารถจะมีความคิดแตกฉานขยายไปในแง่มุมต่างๆ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยเข้ามาพร้อมที่จะจดข้อมูลเพื่อจะเตรียมสอบ หรือในกรณีที่มีผู้ช่วยสอนมาสรุปเนื้อหาในการสอน ก็ยิ่งไม่ให้ความสนใจกับอาจารย์ผู้สอน เพราะถึงอย่างไรก็มีเอกสารที่พร้อมจะตอบข้อสอบได้ ทัศนคติเช่นนี้ไม่ใช่การเรียนเพื่อให้มีการเรียนรู้ รอบรู้ แต่หากเป็นการเรียนเพื่อจะสอบให้ผ่านเพื่อจะได้ปริญญาบัตรโดยไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความสามารถมีเพียงการจำข้อมูล ใบปริญญาก็กลายเป็นแผ่นกระดาษที่ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี
4. เมื่อกระบวนการการเรียนเป็นเช่นนี้ สิ่งที่นักศึกษาจะได้ก็คือเอกสารและหนังสือที่นักศึกษาใช้อ่านเพื่อให้สอบได้ผ่าน แต่ไม่ได้มีการเรียนรู้และรอบรู้ (learning) จึงกลายเป็นเพียงสามารถจำหรือรู้ข้อมูล หรือจำการวิเคราะห์เพื่อจะมีการใช้ในการพูดจาแสดงถึงภูมิความรู้โดยไม่มีความรู้อย่างแท้จริง ทำนองว่าอ่านมากก็จำได้มาก ฟังมากก็จำข้อมูลได้มาก แต่ถ้ามีการคิดนอกเหนือไปจากสิ่งที่จำมาก็จะไม่สามารถทำได้ สิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่จำมา ก็ไม่สามารถนำมาต่อยอดได้หรือใช้เป็นพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์เพื่อจะได้สังเคราะห์เป็นประเด็นใหม่ๆ ของตน การศึกษาเยี่ยงนี้ภาษาจีนเรียกว่า \"ตู๋ สื่อ ซู\" ตู๋แปลว่าเรียน สื่อแปลว่าตาย ซูแปลว่าหนังสือ แปลง่ายๆ คือ เป็นการเรียนแบบที่ไม่มีชีวิตชีวา ท่องจำโดยไม่มีการเคลื่อนไหวของความคิด ซึ่งคำพูดภาษาจีนนั้นอธิบายได้ชัดเจนมาก
5. สภาพที่กล่าวมาเบื้องต้นทำให้ผู้ซึ่งได้รับปริญญา แม้จบปริญญาสูงสุดกลายเป็นผู้ซึ่งจำข้อมูลได้มากกว่าก่อนการได้มาเรียน สามารถสอบผ่านและเขียนวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์ได้ และสามารถได้รับปริญญาไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี ปริญญาโทหรือปริญญาเอก ตามความตั้งใจ โดยมีข้อมูลมากขึ้น มีการสะสมข้อมูลต่างๆ รวมทั้งข้อมูลของการวิเคราะห์จากการจำมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแง่ข้อมูล หรือความรู้อันมาจากการท่องจำ แต่มิใช่เป็นผู้ซึ่งได้เรียนรู้หรือรอบรู้อย่างแท้จริง ความเชื่อมั่นจึงไม่เกิดขึ้นเพราะในส่วนลึกก็รู้ว่าไม่ได้มีเกียรติและศักดิ์ศรีตามที่ปริญญาบัตรได้ระบุไว้ และที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมหรือค้นคว้าวิจัยเนื่องจากไม่มีทักษะในการศึกษา จับประเด็นไม่ได้ ค้นคว้าไม่เป็น วิจัยเก็บข้อมูลได้ตามหลักเทคนิคแต่วิเคราะห์ไม่เป็น ไม่อ่านหนังสือ ถึงจุดๆ หนึ่งความรู้จะหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังภายใน 2-3 ปี ปริญญาบัตรที่ได้มาจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะความรู้ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่หยุดยั้ง
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีประเด็นที่เป็นจุดบอดที่สุดของการศึกษา ทั้งในแง่การเรียนการสอนก็คือ ผู้สอนที่ไม่ค้นคว้าเพิ่มเติม ผู้สอนที่ไม่มีลักษณะเป็นนักวิชาการ ผู้สอนคิดวิเคราะห์ไม่เป็นจนสามารถสร้างความรู้ได้ เพียงแต่จำองค์ความรู้ที่ศึกษามาและไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม หรือถ้าไม่มีความรู้ในภาษาต่างประเทศก็ไม่สามารถอ่านวรรณกรรมภาษาต่างประเทศได้ องค์ความรู้จึงล้าหลังการพัฒนาของวิชาการ เมื่อสอนนักศึกษาก็เอาองค์ความรู้ที่ล้าหลังให้นักศึกษาได้รับรู้ เมื่อประกอบกับการไม่กระตุ้นให้เกิดความคิดวิเคราะห์เนื่องจากผู้สอนก็คิดวิเคราะห์ไม่เป็น การวิจัยเก็บข้อมูลก็เพียงแต่ได้ข้อมูลใหม่ๆ จากการวิจัย แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ตีความได้ และถึงแม้วิเคราะห์ตีความได้ก็จะอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ล้าหลัง จึงมีการชดเชยด้วยการใช้กระบวนการเก็บข้อมูล การใช้สถิติ หรือเทคนิคการวิจัย โดยมีความน่าประทับใจในการใช้สูตรสถิติต่างๆ รวมทั้งจากการใช้ตัวเลขสมองกล วิธีการเก็บข้อมูลจึงกลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญของดุษฎีนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ โดยเนื้อหานั้นไม่มีการวิเคราะห์เท่าที่ควร หรือแม้จะมีการวิเคราะห์ก็ไม่ได้โยงกับทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่บอกข้อมูลที่ได้จากการคำนวณจากสมองกลและออกมาในรูปของตาราง และแม้จะมีการโยงไปถึงทฤษฎีและองค์ความรู้ที่อยู่ในวรรณกรรม ก็จะเป็นวรรณกรรมที่ล้าสมัย ไม่สามารถทันกับพัฒนาการของวิชาการที่มีการดำเนินไปอย่างพลวัต กระบวนการทั้งหมดจึงกลายเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถพัฒนาทันกับความรู้ใหม่ๆ ประกอบทั้งความอ่อนแอของกระบวนการสอนและการเรียน จึงเป็นการยากยิ่งที่มีจะมีการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ โดยมีการสร้างความรู้และสร้างทฤษฎีขึ้นมาเองในหมู่นักวิชาการ ทั้งๆ ที่มีการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่ก็ยังถูกครอบด้วยวิธีการเรียนแบบเก่า ส่งผลถึงวิธีการสอนและระบบความคิด ซึ่งเป็นจุดบอดของระบบการศึกษา
อาจารย์เหล่านี้ถ้ามีการสัมมนาในเวทีวิชาการระหว่างประเทศจะไม่สามารถดำเนินการได้ในระดับสากล อย่างดีที่สุดคือการเรียบเรียงจากข้อมูลต่างๆ ที่ได้ศึกษามา เสมือนหนึ่งทำการสอนนักศึกษา ในการนำเสนอจะไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นจุดเด่นที่ท้าทายความคิด หรือทฤษฎีในทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอจะใช้วิธีอ่านจากบทความที่เขียน ไม่สามารถจะเสนออย่างอิสระโดยชำเลืองมองเฉพาะประเด็นหลักๆ และอธิบายอย่างธรรมชาติ การเสนอบทความในการประชุมนานาชาติจึงมีคนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นการอ่านบทความที่เขียนจากการเรียบเรียง ขาดการคิดวิเคราะห์เจาะลึก และการสังเคราะห์ ที่นำไปสู่ประเด็นใหม่ๆ ที่ท้าทายต่อการจุดประกายความคิดทางวิชาการและการถกเถียงทฤษฎีต่างๆ ในเวทีเสวนาวิชาการ
ระบบการศึกษาของไทยจึงเป็นระบบที่มีปัญหา ทั้งในแง่ผู้สอน ผู้เรียน และระดับของการพัฒนา คำถามก็คือ แล้วจะมีการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาได้อย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบ เพราะในแง่หนึ่งคนจำนวนไม่น้อยยังไม่ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น กล่าวคือ แม้แต่ความสามารถในการเข้าใจประเด็นปัญหา (perception of problems) ก็ยังเป็นปัญหา

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต

ที่มา:สยามรัฐ



17/11/2558