การศึกษา ที่ต้องพัฒนา

การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคน สังคมและชาติบ้านเมือง ชนชาติที่มีการศึกษาที่ดีได้รับโอกาสทางการศึกษากันอย่างทั่วถึง ความเจริญก้าวหน้าของสังคมชาติบ้านเมืองก็จะติดตามมา ส่วนชนชาติที่ด้อยการศึกษา ขาดโอกาสทางการศึกษาแล้วก็หวังได้เลยว่าความเจริญก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตของผู้คนในชนชาตินั้นย่อมเป็นไปอย่างล่าช้าและด้อยคุณภาพ ขาดการพัฒนาโดยประการทั้งปวง การพัฒนาด้านการศึกษาจึงจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยเรา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเราก็ยังล้าหลังกว่าอีกหลายชาติทีเดียว สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรมเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางสังคมบ้าง จากปัญหาการเมืองบ้าง จากปัญหาการที่ผู้เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องบ้าง รวมถึงการมองไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาบ้าง แต่เมื่อปัญหาทางสังคม ปัญหาการปกครองเกิดขึ้นมาจนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว จึงหันมาหวังผลจากการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งบางกรณีก็กลายเป็นเรื่อง “สายเกินแก้” เสียแล้ว

การที่จะพัฒนาการศึกษาต้องดำเนินการให้ครบถ้วนองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง ถ้าการดำเนินการเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ผลที่ออกมาก็จะไม่สมบูรณ์ จึงควรพัฒนาการศึกษาให้ครบถ้วนดังนี้


ประการที่หนึ่ง : พัฒนาทางด้านร่างกาย การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพจำเป็นต้องพัฒนาบุคคลให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ร่างกายของคนนั้นๆ ได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่วัยโดยเฉพาะการพัฒนาเด็กจำเป็นต้องเน้นการให้ข้าวให้น้ำที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ให้เด็กได้บริโภคอาหารครบถ้วนจนทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมาตามวัย ในขณะเดียวกันก็ไม่สะสมสารเคมีหรือชนิดของอาหารในร่างกายจนเกินความจำเป็นจนกลายเป็นโรคอ้วนบ้าง โรคที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีตามแหล่งน้ำตามแหล่งที่มาของชนิดอาหารจนทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็กไม่เป็นไปตามวัยที่ควรจะเป็นบ้าง ดังนั้นการพัฒนาทางด้านร่างกายเพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อการศึกษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพในลำดับถัดไป

ประการที่สอง : พัฒนาการด้านปัญญา การศึกษาที่สังคมหวังสูงสุดคือการเรียนรู้ให้เกิดสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียนรู้ไป มีความแตกฉานในวิชานั้นๆ ความสามารถตั้งโจทย์และตอบปัญหาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เด็กที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดนั้นย่อมเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ปกครองอย่างยิ่ง ความเฉลียวฉลาดของเด็กส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของคนที่ให้กำเนิดเด็กมา อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมที่ได้โน้มน้าวให้เด็กใฝ่การเรียนรู้ รวมถึงพรสวรรค์ที่เกิดขึ้นภายในตัวเด็กเองว่าใฝ่เรียนเพื่อการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด คนที่รักการเรียน เขียน อ่านก็ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขาได้สิ่งที่รักให้มากที่สุด ส่วนคนที่ไม่ถนัดในเรื่องการเรียน เขียนอ่าน แต่มีความรักทางด้านศิลปะดนตรีการแสดงออกก็ส่งเสริมกันไป ส่วนคนที่รักด้านการกีฬาก็ควรส่งเสริมให้ได้ทำอย่างเต็มที่ ไม่ควรไปกีดกั้นหรือขัดขวางเพราะคนเราอาจจะมีความรักและความถนัดไม่เหมือนกัน ถ้ากิจกรรมใดเป็นการสนับสนุนให้เกิดสติปัญญา ได้แสดงออกตามความรู้ความสามารถแล้วก็ควรส่งเสริมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตได้ระยะยาว

2

ประการที่สาม : พัฒนาด้านอารมณ์ อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นองค์ประกอบของการพัฒนาอย่างมากเพราะอารมณ์ของคนเราย่อมมีความแตกต่างกันไป เมื่อแยกแยะให้ครบถ้วนแล้วก็จะมีสองลักษณะคือ อารมณ์ที่พึงปรารถนาเรียกว่า “อิฏฐารมณ์” ประกอบด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสุข ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” ประกอบด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดความทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกติฉินนินทา ดังนั้นอารมณ์ที่เป็นฝ่ายบวกก็จะทำให้เกิดความสุข แต่อารมณ์ที่เป็นฝ่ายลบก็จะทำให้เกิดความทุกข์ แต่ความเป็นจริงแล้วอารมณ์ทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วนี้ล้วนเกิดขึ้นกับคนเราทุกชีวิต จะมีเพียงว่าใครได้รับส่วนใดมากน้อยต่างกันเท่านั้น คนที่มีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่วอกแวก ไม่ปล่อยให้อารมณ์เป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นบุคคลที่มีบุคลิกดีมีความสง่างาม การพัฒนาทางด้านอารมณ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการทางการศึกษา

ประการที่สี่ : พัฒนาทางด้านสังคม การศึกษาที่พร่ำสอนให้คนเรารู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้าง รู้จักปรับตัวเหมือนกับสัตว์บางชนิดที่ปรับสีผิวของตนเองให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมจนได้รับความปลอดภัยและเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถใช้สอนผู้อื่นให้รู้จักปรับตนเองให้เข้ากับสังคมและภูมิประเทศ มนุษย์เราย่อมมีวิถีชีวิตทางสังคม ประเพณี ระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อบ้าง ตามค่านิยมบ้าง ตามจารีตที่บรรพชนเคยปฏิบัติมาบ้าง เมื่อแต่ละคนร่วมกันประพฤติปฏิบัติก็จะกลายมาเป็นระเบียบทางสังคมและประเพณีที่ร่วมกันปฏิบัติมา เกิดบรรทัดฐานของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราจะเห็นได้ว่าแต่ละทวีปแต่ละเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ย่อมมีสังคมที่แตกต่างกัน เราจะปฏิเสธสังคมของแต่ละเผ่าพันธุ์นั้นไม่ได้เลย พวกเขามีความเชื่อที่แตกต่างจากเรา พวกเขามีข้อวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนเรา แต่พวกเขาก็มีชีวิตอยู่ได้ การศึกษาที่พร่ำสอนให้คนเรารู้จักพัฒนาตนเองให้รู้ให้เข้าใจในสังคมแล้วปรับตนเองให้เข้ากับสังคมจึงเป็นองค์ประกอบทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างมาก

เมื่อการศึกษาที่พัฒนาได้ครบทั้งสี่ด้านนี้แล้วยังมีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เกิดการศึกษาได้บรรลุถึงผลสำเร็จแห่งการศึกษาอย่างแท้จริง นั่นคือ ศึกษาอย่างไรที่จะให้เกิดมีศีล ศึกษาอย่างไรที่จะให้เกิดมีสมาธิ ศึกษาอย่างไรที่จะให้เกิดมีปัญญาอย่างบริบูรณ์เพราะเป็นการศึกษาที่ทำให้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ที่สุด


การศึกษาที่มีศีล เป็นการศึกษาที่เรียนรู้แล้วกลายเป็นคนมีศีลซึ่งเป็นข้อวัตรปฏิบัติของความเป็นมนุษย์ ศีลแปลว่าปกติก็ได้ แปลว่าเย็นก็ได้ คนที่เรียนหนังสือแล้วเป็นคนมีศีลเป็นของตนเอง รักษาศีลของตนเอง นับว่าเป็นสุดยอดของความเป็นมนุษย์ เพราะเรียนรู้ไปแล้วสามารถนำเอาความรู้นั้นมาประพฤติปฏิบัติได้ทันทีและเห็นผลเป็นรูปธรรม คนที่มีศีลอย่างเช่นศีลของผู้ครองเรือน ไม่เข่นฆ่าล้างผลาญผู้อื่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ไม่ฉกฉวยเอาสมบัติของผู้อื่น ไม่โกงกิน ไม่ประกอบอาชีพที่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเอง ไม่ประพฤติผิดลูกผิดเมียของผู้อื่น ให้ความสำคัญและให้เกียรติเพศตรงข้ามและทุกเพศทุกวัยไม่ทำลายของรักของหวงผู้อื่น ไม่พูดคำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ คำที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ดื่มสุราของมึนเมาทุกชนิดที่จะนำไปสู่ความประมาทการเข้าใจผิดทำลายซึ่งกันและกัน ไม่ผลิตยาบ้า ค้าขายยาเสพติด ไม่เป็นผู้เสพหรือตกเป็นทาสของสารเสพติดทุกชนิด คนที่มีศีลจะไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกชนิด นับตั้งแต่ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการงาน การศึกษาที่มีศีลจริงๆ จึงไม่มีสิ่งชั่วร้ายในชีวิตและในสันดานดังที่กล่าวมานี้ ดังนั้นคนที่มีศีลย่อมเป็นคนที่ปกติ เป็นคนเยือกเย็น เป็นคนมีเมตตา เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนใจเดียวรักเดียว เป็นคนมีวาจาไพเราะเพราะพริ้ง มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรออกมาก็มีคนเชื่อถือและยึดมั่น เป็นคนห่างเหินและมองเห็นโทษของสิ่งมึนเมาทุกชนิด ไม่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดโดยประการทั้งปวง คนที่มีศีลจึงเป็นคนที่สังคมเคารพนับถือและยกย่อง เป็นคนสง่างามในสังคม นี่คือการศึกษาที่มีศีล

การศึกษาที่มีสมาธิ เป็นการศึกษาที่เรียนรู้แล้วเกิดความแน่วแน่ แม่นยำ ชัดเจน คนที่มีสมาธิดีย่อมมีความมั่นคงในอารมณ์ มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ สมาธิเป็นเครื่องกลั่นกรองความสับสนวุ่นวายได้อย่างดี คนที่มีสมาธิดีย่อมมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง ถ้าเป็นเด็กนักเรียนนิสิต นักศึกษาแล้วคนที่มีสมาธิดีย่อมจะเรียนหนังสือได้ดี มีความจำที่แม่นยำในเนื้อหาวิชาที่เรียน เรียนอะไรก็รู้ คิดอะไรก็เป็นไปตามความเป็นจริง ทำอะไรก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง สมาธิจึงเป็นพื้นฐานแห่งอารมณ์ที่มั่นคง การฝึกสมาธิจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ การดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา แต่การฝึกสมาธิให้ได้ผลจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานคือการเป็นคนมีศีลเพราะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การฝึกสมาธิ คนที่มีศีลบริบูรณ์หรือเพียงพอก็จะมีสมาธิที่แน่วแน่เพราะมีความมั่นใจให้ความสมบูรณ์ของตนเอง การฝึกสมาธิจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้นำพาไปสู่การปฏิบัติเพื่อมิให้เกิดการฝึกสมาธิเพื่อนำไปใช้ในเดรัจฉานวิชาหรือนำไปใช้ในทางที่ผิดๆ ไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นสมาธิที่ดีและถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาแล้ว มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษแก่ใครทั้งสิ้น ทางพระเรียกว่า “สัมมาสมาธิ”

การศึกษาที่เกิดปัญญา ปัญญาคือความรู้ ความเข้าใจ การศึกษานี่เองจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปวิเคราะห์ให้เกิดการปฏิบัติจนประสพผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ คนเราย่อมมีความเฉลียวฉลาดที่ไม่เหมือนกัน บางคนเฉลียวฉลาดมาก พอได้เรียนรู้หรือรับข้อมูลเพียงนิดเดียวก็มีวิจารณญาณเกิดความถ่องแท้ขึ้นมา แต่บางคนต้องเรียนรู้แล้วเรียนรู้อีกจึงจะเกิดปัญญา พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบมนุษย์เสมือน “ดอกบัวสี่เหล่า” คนที่รู้จักใช้ปัญญาในทางที่ดีและสร้างสรรค์ก็ล้วนแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ผิดกับคนที่ใช้ปัญญาทำลายล้างผลาญผู้อื่น ประพฤติผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง คนที่ใช้ปัญญาเช่นนั้นจึงกลายเป็นคนเสียชาติเกิด…..

การศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดความเจริญทางร่างกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ ทางสังคม ให้เกิดบริบูรณ์ขึ้นมาในตัวบุคคล การศึกษาที่จะครบวงจรของชีวิตจำเป็นต้องศึกษาแล้วเกิดเป็นคนมีศีล เกิดเป็นคนมีสมาธิ เกิดเป็นคนมีปัญญา สามารถนำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และเกิดความความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะคิดหรือจะพูดหรือจะทำก็ล้วนแต่เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ ไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น การศึกษาจึงจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทุกด้าน

การศึกษาของเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษานี้เป็นการเรียนรู้ถึงหลักวิชาการ หลักที่จะสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตในการประกอบอาชีพหน้าที่การงานในวันข้างหน้า เด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาย่อมจะมีอนาคตที่ดีกว่าเด็กคนอื่น การช่วยเหลือหรือสนับสนุนการศึกษาลูกหลายของสังคมเรานี้ขอให้เป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พวกเขาจริงๆ ศึกษาแล้วเกิดการปฏิบัติ ศึกษาแล้วเป็นเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีศีลธรรม อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของศาสนา อยู่ในกติกาและกฎหมายของสังคมและบ้านเมือง ไม่กลายเป็นผู้ทำลายสังคมเพราะได้รับการศึกษาที่ผิดๆ เรียนหนังสือแล้วเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดประพฤติตนเป็นคนดี ไม่ติดยาบ้าหรือสารเสพติด ไม่ตกอยู่ในหลุมอบายมุขทั้งหกชนิดดังที่กล่าวมาแล้ว เติบโตขึ้นมาเป็นเยาวชนพลเมืองที่ดีของครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน สังคมและประเทศชาติ นี่คือคนที่ศึกษาแล้วและพัฒนากันแล้ว

จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะให้ลูกหลานของสังคมเราได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับการพัฒนาที่ดี ได้รับบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก

กรรมการและเลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียนวัดบางไส้ไก่ ธนบุรี





ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557



19/08/2557