การศึกษาไทยในอันดับโลก

เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
รายงานการจัดอันดับการศึกษาไม่นานมานี้โดย OECD องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่อ้างว่าเป็นการจัดอันดับการศึกษาในโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำมา (The biggest ever global school rankings have been published)ปรากฎว่า 5 อันดับแรกเป็นประเทศในเอเชียทั้งหมด คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนประเทศอาเซี่ยนปรากฎว่า เวียดนามอันดับ 12 ไทย 47 มาเลเซีย 52 อินโดนีเซีย 69 จาก 76 ประเทศ
น่าสนใจว่า เวียดนามอยู่อันดับเหนือกว่าเยอรมนี (13) ออสเตรเลีย (14) นิวซีแลนด์ (17) อังกฤษ (20) เดนมาร์ค (22) ฝรั่งเศส (23) สหรัฐอเมริกา (28) และอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว การวัดผลครั้งนี้วัดที่การเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมกับวิเคราะห์ให้เห็นว่า ผลการเรียนและอันดับที่จัดนี้สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ งายงานนี้เขียนโดย Eric Hanushek จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ Ludger Woessmann จากมหาวิทยาลัยมิวนิก ชี้ว่า มาตรฐานการศึกษา คือ ตัวบ่งชี้สำคัญถึงความมั่งคั่งที่ประเทศต่างๆ จะผลิตในระยะยาว และบอกด้วยว่า นโยบายและการจัดการศึกษาที่ไม่ดีจะส่งผลต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน
รายงานนี้วิเคราะห์ต่อไปว่า ถ้าประเทศกานา ซึ่งอยู่อันดับสุดท้ายของตาราง 76 ประเทศ สามารถพัฒนาการศึกษาและทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีทักษะขั้นพื้นฐาน ประเทศนี้จะขยายจีดีพีได้ถึง 38 เท่าจากปัจจุบันในชั่วอายุของเด็กเหล่านี้ ตรงกับที่เบนจามิน ดิสราเอลี อดีตนายกสหราชอาณาจักรพูดไว้ร้อยกว่าปีก่อนว่า อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนŽ
รายงานนี้จะนำไปสู่เวทีประชุมการศึกษาโลก (World Education Forum -WEF) จัดโดย UNESCO ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม นี้ เพื่อประเมินผล 15 ปีแรกของการพัฒนาการศึกษา (2000-2015) และวางแผนระยะต่อไป (2015-2030)
รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับรายงานนี้และนำมาศึกษา เพราะนี่เป็นการวิจัยโดยองค์กรที่มีชื่อเสียงและมีมาตรฐาน โดยนักวิชาการระดับโลก ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา และควรติดตามต่อไปว่า ในการประชุมการศึกษาโลกที่เมืองอินชอน มีประเด็นอะไรที่ควรนำมาเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปสังคมโดยรวมในขณะนี้
การศึกษาของ OECD เป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่า การศึกษาที่ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังกรณี 5 อันดับแรกซึ่งอยู่ในเอเชีย รวมถึงประเทศเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะแซงไทยและหลายประเทศในอาเซียนในอีกไม่นาน ดูแค่การลงทุนที่ประเทศต่างๆ ไปลงทุนที่เวียดนามก็คงพอดูออก ไม่ใช่เพียงเพราะค่าแรงถูก แต่เพราะประเทศนี้มีบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอเพื่อการผลิตที่ไม่ได้ต้องการเพียงแรงงานถูกๆ อย่างเดียว
ประมาณ 20 กว่าปีก่อน ว่ากันว่า ร้อยละ 20 ของผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นคนเวียดนามที่อพยพไปที่นั่น หรือเกิดและเติบโตที่นั่น คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลับมาประเทศของตน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 47 อาจจะปลอบใจว่าเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน ดีกว่าอีกหลายประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไร น่าจะถือโอกาสนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษา ทั้งนโยบายและการปฏิบัติจะดีกว่า ข่าวแบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็น การวิเคราะห์ก็มีน้อย สื่อชอบข่าวเด็กไทยไปได้เหรียญวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในการแข่งขันระหว่างประเทศ ดีที่ไม่ได้บอกชนะเลิศ หรือเป็นที่ 1 ของโลกเพียงเพราะได้เหรียญทองมา (เหมือนอย่างที่ชอบอวดว่าเป็นแชมป์โลกโยธวาทิตเพราะได้เหรียญทอง ทั้งๆ ที่ได้เหรียญทองกันเกือบทุกวงจากทุกประเทศที่ไปแข่ง และเป็นเหรียญทองที่มีคะแนนดีกว่าไทยด้วยซ้ำ)
การไปแข่งขันระดับนานาชาติทางฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ เป็นเรื่องที่ดี ได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดงมาก็น่าดีใจ แต่ก็ควรให้รายละเอียดว่าไปแข่งกี่ประเทศ ประเทศอื่นเขาได้กี่เหรียญ เราอยู่อันดับที่เท่าไร เหมือนที่เวลาไปแข่งกีฬาโอลิมปิกหรืออื่นๆ เขารายงานกัน
ความจริง เด็กไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กชาติอื่นๆ โรงเรียนดีๆ ครูดีๆ ก็มี ที่เราควรพิจารณา คือ นอกจากเด็กจากโรงเรียนเตรียมอุดมและโรงเรียนดังๆ อีกไม่กี่โรงที่ส่งนักเรียนไปแข่งขัน โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศมีระดับ คุณภาพ มาตรฐานการศึกษาอะไร ทำไมเราอยู่อันดับที่ 47 ไม่ใช่ที่ 10-11
ทำไมวันนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งประถม มัธยมมากขึ้น คงไม่ใช่เพียงเพราะประชากรลดลงเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า เราปล่อยให้โรงเรียนในจังหวัดอำเภอดูดเด็กจากตำบลหมู่บ้านเข้ามาเรียนในตัวเมืองหมด ทุกเช้าถนนทุกสายมุ่งสู่ตัวเมือง ส่งเด็กไปโรงเรียน เด็กต้องตื่นแต่เช้ามืด ไม่ได้ต่างจากเด็กกรุงเทพฯ
ครูในโรงเรียนบ้านนอกบางแห่งมี 10 คน เหลือจริงๆ ไม่ถึงครึ่ง คนอื่นมี ธุระŽ สารพัดอย่าง ครูคนหนึ่งดูแลสองสามห้อง แล้วจะให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเหล่านี้พัฒนาได้อย่างไร แล้วจะแปลกอะไรถ้าหาก รายงานของ WEF ปี 2557 บอกว่า เด็กไทย ป. 3 ถึง 600,000 คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาระบบการศึกษา ปัญหาคุณภาพครูเป็นปัญหาร่วมที่แยกกันไม่ออก เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนที่ต้องอาศัย สมการŽ (equation) สูตรŽ (formula) ดีๆ และมีพลังมาถอดรหัสและแก้ไขให้ถึงแก่นจนลงตัว เหมือนสมการและสูตรคณิตศาสตร์ที่ไม่ใช่เอาแค่สูตรคูณมาแก้


ที่มา:สยามรัฐ Tue, 19/05/2015 - 17:01



24/05/2558