ข้าวโพดสีม่วงลูกผสม สกัดสารจาก 'ซัง' สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผลสำเร็จจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ และคณะแห่งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงลูกผสม โดยใช้พันธุ์ข้าวโพดสีม่วงจากประเทศเปรูผสมกับสายพันธุ์ไทยพบว่าข้าวโพดสีม่วงลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ KPSC 903 ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เนื่องจากมีความต้านทานต่อโรคและแมลง มีปริมาณแป้งสูงและอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีศักยภาพสูงต่อการประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและยา

ด้วยเหตุนี้ “ข้าวโพดพันธุ์สีม่วงลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ KPSC 903” ที่พัฒนาได้ผ่านการทดสอบพันธุ์ทั้งผลผลิตและการปรับตัวในแหล่งปลูกข้าวโพด ผลตอบแทนสุทธิ และทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้า เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรจากข้าวโพดสีม่วง ทั้งในส่วนของเมล็ดข้าวโพด ข้าวโพดบดหยาบ รวมทั้งซังและตอซังซึ่งมีสีม่วง จึงได้นำมาแปรรูปเพื่อเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป

รวมทั้งการศึกษาคุณสมบัติทางเคมี กายภาพ เคมีกายภาพ และคุณสมบัติเชิงสุขภาพของเมล็ด ข้าวโพดบดหยาบ และแป้งข้าวโพดลูกผสมแอนโทไซยานินสูง ตลอดจนการศึกษาศักยภาพต้านการก่อกลายพันธุ์ของข้าวโพดลูกผสมแอนโทไซยานินสูง และการเปลี่ยนแปลงระหว่างการเก็บรักษาด้วย นอกจากนี้การสร้างมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถแจ้งเกิดในตลาด จำเป็นต้องมีการสำรวจพฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภค และทดสอบการยอมรับ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าและตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคมากที่สุด

\"โครงการวิจัยนี้ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวโพดพันธุ์สีม่วง KPSC 903 โดยวิจัยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของเมล็ด ซังและตอซัง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเช้าธัญชาติพร้อมบริโภค บะหมี่สดที่ใช้แป้งข้าวโพดสีม่วงทดแทนแป้งสาลี เครื่องดื่มและคุกกี้จากข้าวโพดสีม่วง แอนโทไซยานินผงจากซังข้าวโพด และกรดฟีนอลิกจากเศษเหลือข้าวโพดเพื่อใช้ในโทนเนอร์สำหรับผิวหนัง\"

อ.จุฬาลักษณ์ จารุนุช จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยอมรับด้วยว่า ในแง่ของการใช้ประโยชน์ข้าวโพดลูกผสมแอนโทไซยานินสูงเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่อาหารนั้นพบว่ามีความเป็นไปได้ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทางการค้า ได้ผลิตภัณฑ์แอนโทไซยานินผงจากซังข้าวโพด ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารให้สีในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้กรรมวิธีการผลิตสารที่กักเก็บสารฟีนอลิคที่สกัดได้จากเศษเหลือข้าวโพดม่วงในอนุภาคขนาดเล็กด้วยเครื่องไมโครฟูลอิไดเซอร์แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โทนเนอร์ปรับสภาพผิวขาวใสและให้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวหนัง

\"ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้จากงานวิจัยนี้นอกจากมีจุดเด่นในเชิงสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีการจำหน่ายและแปรรูปในท้องตลาดแล้ว สามารถขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที\" อ.จุฬาลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา:คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 21-10-2557



21/10/2557