เจอแล้วหน่วยงานอั้น ยังไม่เบิกจ่ายงบฯ ปี 58 แม้แต่บาทเดียว

รายงาน ข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือถึงหัวหน้าทุกส่วนราชการ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับดูแลส่วนราชการและรัฐ วิสาหกิจต่างๆ เพื่อกำชับให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ และผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พบว่า

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2558 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณวันที่ 1 ตุลาคม 2557-13 มีนาคม 2558 กรมบัญชีกลางได้รายงานว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ต่ำที่สุด 10 อันดับ คือ อันดับที่ 1 กรมประชาสัมพันธ์ ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียว จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 1,169 ล้านบาท

2.กรมการท่องเที่ยว เบิกจ่าย 6 หมื่นบาท คิดเป็น 0.05% จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 1,384 ล้านบาท

3.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เบิกจ่าย 8.34 ล้านบาท คิดเป็น 0.33% จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 2,533 ล้านบาท

4.กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เบิกจ่าย 52 ล้านบาท หรือ 1.40% จากงบลงทุนที่ได้รับ 3,765 ล้านบาท

5.กรมที่ดินเบิกจ่าย 74 ล้านบาท คิดเป็น 4.16% จากงบลงทุนที่ได้รับ 1,798 ล้านบาท

6.กรมการปกครองเบิกจ่าย 94 ล้านบาท คิดเป็น 7.86% จากงบลงทุนที่ได้รับ 1,204 ล้านบาท

7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกจ่าย 586 ล้านบาท คิดเป็น 8.53% จากงบลงทุนที่ได้รับ 6,868 ล้านบาท

8.กรมราชทัณฑ์เบิกจ่าย 122 ล้านบาท คิดเป็น 8.61% จากงบประมาณที่ได้รับ 1,423 ล้านบาท

9.กรมเจ้าท่า เบิกจ่าย 337 ล้านบาท คิดเป็น 8.86% จากงบประมาณที่ได้รับ 3,813 ล้านบาท

10.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเบิกจ่าย 1,578 ล้านบาท คิดเป็น 9.71% จากงบประมาณที่ได้รับ 16,253 ล้านบาท

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เบิกจ่ายงบลงทุนได้สูงที่สุดคือ มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกจ่ายได้ถึง 78.86% รองลงมาคือ ศาลยุติธรรมเบิกจ่ายได้ 69.10% สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 54.90% กองบัญชาการกองทัพไทย เบิกจ่าย 51.08% กรมพัฒนาที่ดิน 36.35% กรมชลประธาน 35.53% และกรมทางหลวงชนบท 33.09%

การจัดอันดับกระทรวงที่เบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมต่ำกว่า 10 อันดับแรก พบว่ากระทรวงที่เบิกจ่ายได้ต่ำสุดคือ
1.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเบิกจ่าย 2,089 ล้านบาท คิดเป็น 26.35% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับกว่า 7,931 ล้านบาท

2.กระทรวงคมนาคมเบิกจ่าย 32,140 ล้านบาท คิดเป็น 29.03% จากงบประมาณ 110,722 ล้านบาท

3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเบิกจ่าย 10,581 ล้านบาท คิดเป็น 34.99% จากงบประมาณ 30,245 ล้านบาท

4.กระทรวงอุตสาหกรรมเบิกจ่าย 2,057 ล้านบาท คิดเป็น 35.13% จากงบประมาณ 5,856 ล้านบาท

5.กระทรวงกลาโหมเบิกจ่าย 70,541 ล้านบาท คิดเป็น 36.56% จากงบประมาณ 192,949 ล้านบาท

6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เบิกจ่าย 30,251 ล้านบาท คิดเป็น 37.35% จากงบประมาณ 80,999 ล้านบาท

7.กระทรวงวัฒนธรรมเบิกจ่าย 2,692 ล้านบาท คิดเป็น 38.20% จากงบประมาณ 7,047 ล้านบาท

8.กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่าย 43,593 ล้านบาท คิดเป็น 39.75% จากงบประมาณ 109,658 ล้านบาท

9.ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเบิกจ่ายได้ 47,579 ล้านบาท คิดเป็น 39.80% จากงบประมาณ 119,538 ล้านบาท

10.กระทรวงพลังงานเบิกจ่าย 793 ล้านบาท คิดเป็น 40.13% จากงบประมาณ 1,976 ล้านบาท

ในส่วนของกระทรวงที่เบิกจ่ายงบสูงๆ อาทิ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญมีการเบิกจ่ายไปถึง 74% กระทรวงแรงงานเบิกจ่ายไปถึง 63.07% กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเบิกจ่าย 60.93% กระทรวงมหาดไทยเบิกจ่าย 49.26% กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเบิกจ่าย 46.51% กระทรวงพาณิชย์เบิกจ่ายไปได้ 46.34% และสำนักนายกรัฐมนตรีเบิกจ่าย 45.31%

ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:45:46 น.



23/03/2558