หัวใจหลักการศึกษาที่ต้องปฏิรูป

ตอนนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังดำเนินการสรรหาผู้ที่จะมาช่วยกันคิดปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีเรื่องการศึกษารวมอยู่ด้วย ซึ่งการที่จะทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพกับการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้น ผู้คิดจะต้องรู้ลึก รู้จริง ถึงบริบทคุณภาพชีวิตคนไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไรและต้องการได้คุณภาพขนาดไหน ที่ผ่านมามีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้างจึงทำให้คุณภาพเด็กไปไม่ถึงไหน ผู้เขียนจึงพยายามนำข้อมูลการศึกษาจากภาคปฏิบัติมาเสนออยู่บ่อยครั้ง เผื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถูกทางขึ้นมาบ้าง เพราะหากยังใช้แต่แนวคิดของผู้บริหารก็จะจมปลักอยู่กับโครงสร้างและตำแหน่ง เชื่อนักวิชาการมากนักก็จะเต็มไปด้วยหลักการ ทฤษฎี หรือเชื่อกลุ่มที่เห็นต่างชาติดีไปหมดก็มัวแต่เพ้อฝันว่าเด็กไทยต้องมีคุณภาพเหมือนฝรั่ง โดยลืมนึกถึงศักยภาพความพร้อม วิถีชีวิต การทำมาหากิน คุณค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ที่คนไทยมีอยู่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แม้แต่ต่างชาติเขาก็ยังเห็นคุณค่า

เมื่อวิธีการพัฒนาคนของชาติไปลอกรูปแบบเขามาทั้งดุ้นผลที่ได้ก็ คือ กระทรวงเดียวมีซี 11 ถึง 5 คน ครูก้าวหน้าทั้งเงินเดือนและวิทยฐานะ แต่คุณภาพเด็กแย่ลง การปฏิรูปการศึกษาครั้งต่อไปจึงน่าจะให้ความสำคัญไปที่หัวใจหลัก ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้เด็กเกิดคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง โดยหัวใจหลักที่ว่านี้ผู้เขียนเองคิดว่ามีอยู่ 4 ด้านด้วยกัน คือ 1. เป้าหมาย ที่ต้องการให้บุคลากรของชาติเกิดคุณภาพอย่างไร 2. หลักสูตร ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ ทักษะ ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดคุณภาพตามเป้าหมายกำหนดไว้ 3. ครู คือผู้ที่ต้องนำสิ่งกำหนดไว้ในหลักสูตรไปสู่ผู้เรียน และ 4. การเรียนการสอนที่จะช่วยทำให้เด็กเกิดคุณภาพตามศักยภาพที่มีอยู่และเป็นไปตามเป้าหมาย

หัวใจหลักที่ว่านี้ช่วงที่ผ่านมายังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มากมาย โดยด้าน เป้าหมาย ถูกกำหนดไว้ในหลายส่วน เช่น พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 “เด็กต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ดี มีความสุข” หลักสูตรกำหนดว่า “ผู้เรียนต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ สมรรถนะหลักทั้ง 5 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และยังมีเป้าหมายระหว่างทางจากภาครัฐและรัฐมนตรีที่ปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง อาทิ โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนดีศรีตำบล โรงเรียนมาตรฐานสากล การเรียนรู้ภาษาที่สองและภาษาอาเซียน คุณภาพจากการสอบ O-NET, Pisa และ Las คุณภาพจากการประเมินของ สมศ. ฯลฯ ซึ่งแต่ละเป้าหมายหวังไปสู่ความเป็นเลิศทั้งสิ้น แต่ผู้เรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่กลับมุ่งไปที่มหาวิทยาลัยและใบปริญญาจึงให้ความสำคัญอยู่แค่เนื้อหา ยิ่งครูเห็นคล้อยตามไปด้วยการสอนก็จะอยู่แค่วิชาการ จึงกลายเป็นการเรียนเพื่อจำ จำเพื่อสอบ สอบเพื่อจบ จบเพื่อลืม เป้าหมายการพัฒนาจึงควรกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดคุณภาพชีวิตด้านใด ถึงขั้นไหนและต้องไม่ลืมอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ความเป็นไทย และการเป็นพลเมืองโลกที่ดีด้วย

การที่จะทำได้เช่นนี้จะต้องปรับเจตคติทุกฝ่ายให้ได้ก่อนว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ปริญญาหรือทำให้ทุกคนเป็นแพทย์ วิศวะ ผู้บริหาร นักธุรกิจ ได้ทั้งหมด เพราะคนไทยมีศักยภาพและความพร้อมต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่ต้นทุนชีวิตต่ำยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งคุณภาพชีวิตที่เขาเหล่านี้ควรได้รับ คือ การก้าวพ้นจากวงจร โง่ จน เจ็บ ไห้ได้ก่อน ซึ่งประเทศชาติเองก็ยังต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะอาชีพหลากหลายมาร่วมพัฒนาเช่นกัน สำหรับกลุ่มที่มีความพร้อมก็ต้องส่งเสริมให้ไปสู่ความเป็นเลิศด้วยการยกระดับโรงเรียนที่มีความพร้อมให้เป็นนิติบุคคลหรือตั้งโรงเรียนเฉพาะทางให้มากขึ้น ไม่ใช่จัดแบบเหมาโหลเตี้ยอุ้มค่อม แถมยังใช้เป้าหมาย ใช้หลักสูตรหรือข้อสอบ O-NET รวมถึงการประเมินคุณภาพ รูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด อย่างทุกวันนี้เด็กเก่งก็ถูกฉุดรั้ง เด็กอ่อนก็วิ่งตามไม่ทัน

ด้านที่สอง คือ หลักสูตร ที่ยังเต็มไปด้วยหลักการ ทฤษฎี มีภาษาสวยงามแต่ยากในทางปฏิบัติ เนื้อหาสาระก็ไม่สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน สาระการเรียนรู้มากเกินความจำเป็น ป.1-ม.6 ต้องเรียน 8 กลุ่มสาระกับอีก 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเช่นเดียวกันและแต่ละกลุ่มสาระยังมีวิชาย่อยซ่อนอยู่อีก เช่น กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี จะมีวิชางานบ้าน งานประดิษฐ์ งานช่าง งานเกษตร คอมพิวเตอร์ เมื่อมีวิชามาก ตารางสอนมาก เวลาเรียนมาก การบ้านก็มาก ต้องใช้ครูมาก ที่สำคัญ สิ่งที่ใส่ให้ไปแก่เด็กไม่รู้ว่าอะไรเป็นแก่นเป็นกระพี้ การรู้ลึก รู้จริง หรือคุณภาพชีวิตที่ต้องการจึงเกิดขึ้นได้น้อย เด็กเองก็ไม่มีเวลาได้เล่น ได้พัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ หลักสูตรจึงควรปรับให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของเด็กแต่ละช่วงวัย กลุ่มที่ยังอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น มีปัญหาสุขนิสัยการดำเนินชีวิต ก็ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ให้ได้ก่อนหรือกลุ่มที่ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ในสังคมท้องถิ่นได้อย่างมีความสุขก็ควรปลูกฝังทักษะอาชีพและทักษะชีวิตให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่มีความพร้อมสูงก็ต้องส่งเสริมไปสู่ความเป็นเลิศให้ได้

ด้านที่ 3 คือ ครู มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กอยู่หลายสาเหตุ คือ 1. เกิดจากระบบบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาครูขาดแคลนและครูขาดคุณภาพตามมา อาทิ โครงการครูคืนถิ่น ทำให้ครูมีความสุขได้กลับบ้าน แต่เด็กมีความทุกข์เพราะครูไม่พอสอน โครงการเออร์ลี่รีไทร์ ที่ครูออกจากระบบหลายหมื่นราย การโยกย้ายที่มีเส้นสายทำให้โรงเรียนในชนบทครูขาด แต่ในเมืองครูเกิน ซึ่งเป็นการเกินในบางสาขาแต่ขาดวิชาเอกสำคัญ ด้านคุณภาพครู เดิมมีโครงการผลิตครูที่มีคุณภาพ ทั้งคุรุทายาท เพชรในตม ฯลฯ แต่ต้องเลิกล้มไปด้วยเหตุไม่มีอัตรามารองรับหรือเกรงว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการเมื่อการสรรหาเปิดกว้างว่าใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หากสามารถกาข้อสอบไม่กี่ร้อยข้อได้คะแนนเป็นลำดับต้น ๆ ก็ได้เป็นครู ทำให้การที่จะได้คนเก่ง คนมีอุดมการณ์ จิตวิญญาณในวิชาชีพครู จึงเป็นเรื่องยาก สาเหตุที่ 2 ปัญหาที่มาจากตัวครูเอง ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาขวัญกำลังใจที่ขอเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้ สาเหตุต่อมา คือ ภาระงานที่นอกเหนือจากการสอน ทั้งกิจกรรม โครงการ การทดลอง วิจัย การเข้าร่วมประชุม ประกวด แข่งขัน งานโชว์ งานชุมชน การประเมินของ สมศ. การทดสอบจากสารพัดหน่วยงาน ฯลฯ เมื่อครูยังมีอุปสรรคอยู่มากมายเช่นนี้ การที่จะไปคิดออกแบบวิธีจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผู้เรียนเป็นรายบุคคลหรือจัดกิจกรรมเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ตามหลักการนั้นคงเป็นเรื่องยาก

สุดท้าย คือ ด้านการเรียนการสอน ที่ผ่านมาครูส่วนใหญ่ยังไม่ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ยังสอนรูปแบบเดิม ๆ ด้วยวิธีการบอกเล่าเนื้อหาจากตำราเป็นหลัก การที่จะให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นจึงเกิดได้น้อย ส่วนนี้จะไปโทษครูฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะทั้งนโยบาย ภาระงานรวมถึงเจตคติของเด็กกับการเรียนรู้ดังกล่าวมา การสอนจึงออกไปรูปแบบนั้น ยิ่งเป็นครูบรรจุใหม่ด้วยแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะสอนโดยการบอกเล่าเนื้อหาจากตำราเป็นหลัก ด้วยยังขาดประสบการณ์สอน ส่วนนี้จึงต้องปรับเจตคติทุกฝ่ายและปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนของครูให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงให้ได้

การปฏิรูปการศึกษาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปนี้จึงอยากให้คำนึงถึงหัวใจหลักในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะหากสามารถแก้ไขและพัฒนาหัวใจหลักให้กลายเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพได้แล้วผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเด็กและประเทศชาติทั้งหมด แต่หากยังคิดแก้ไขให้ได้ตามใจของทุกฝ่ายโดยไม่ยึดเด็กเป็นตัวตั้งแล้วคิดแก้ไขแต่ปัจจัยรอบข้างซึ่งเป็นเปลือกภายนอกสุดท้ายก็คงได้แต่หน่วยงาน ตำแหน่งผู้บริหาร ความก้าวหน้าของทุกฝ่ายอย่างที่ผ่านมา ถ้าคิดปฏิรูปการศึกษาแล้วได้แค่นี้เรียกว่า “เสียของ” จริง ๆ นะจะบอกให้.

กลิ่น สระทองเนียม


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคาร 26 สิงหาคม 2557 เวลา 00:00 น.



26/08/2557