“ถวัลย์ ดัชนี” จิตรกรแห่งยุคศิลปะไทยร่วมสมัย

เป็นข่าวเศร้าของวงการศิลปะไทยอีกหน เมื่อจิตรกรใหญ่นาม ถวัลย์ ดัชนี แห่งบ้านดำ ดอยนางแล เชียงราย จากไปชั่วนิรันดร์
ก่อนจิตรกรใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี จากไปก็ทราบว่าป่วยมาระยะหนึ่ง เข้ารับรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ถามไถ่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มักคุ้น อีกศิลปินที่สนิทชิดเชื้ออาจารย์ถวัลย์ ว่า “อาจารย์ถวัลย์เป็นอย่างไรบ้าง...”
แต่คล้อยหลังสองสัปดาห์ มาถึงเช้ามืดวันที่ 3 กันยายน ได้ทราบข่าวซึ่งมิคิดว่าจิตรกรใหญ่แห่งบ้านดำจากไปเร็วถึงเพียงนี้ ในช่วงอายุ 74 ปี
บรรทัดอักษรนี้ขออาลัยจิตรกรใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี
อ.ถวัลย์ มิใช่เพียงแค่จิตรกรใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ตวัดแปรงพู่กัน สีน้ำมัน แต้มลงใบบนผืนผ้าใบ สามนาทีเสร็จสรรพมาเป็นมูลค่างานศิลปะ แต่ในตัวท่านมีจิตวิญญาณของ “ครู” ถ่ายทอดความรู้ศิลปะให้กับนักเรียนนักศึกษาที่เข้ารับการอบรม ขณะเดียวกัน ชอบเล่าเรื่องศิลปะ จิตรกรชื่อดังทั้งของไทยและต่างประเทศ ให้กับนักข่าวที่คุ้นกัน มีทั้งสาระปนอารมณ์ขัน ตามด้วยเสียงหัวเราะตามสไตล์ท่าน
การทำกิจกรรมศิลปะของอ.ถวัลย์ มีกลุ่มศิลปินหลักๆ ล้วนแล้วเป็นศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ด้วยกัน มี อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ , กมล ทัศนาญชลี , อิทธิพล ตั้งโฉลก , ปรีชา เถาทอง , นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน , เดชา วราชุน , ธงชัย รักปทุม วิโชค มุกดามณี เป็นต้น ร่วมเดินทางสัญจรสถานศึกษาไปทั่วภูมิภาคของประเทศ ในชื่อศิลปินแห่งชาติสัญจร (กรมส่งเสริมวัฒนธรรมสนับสนุน) นอกจากนี้ยังใช้พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่คัดผลงานนักศึกษาศิลปะปริญญาตรี-โท ไปต่อยอดเรียนรู้ศิลปะในต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสนับสนุน) ดังที่ อ.ถวัลย์ ได้กล่าวไว้วรรคหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน ปี 2555 ว่า
“...ไม่ว่าจิตรกร ปฏิมากร นาฏกร คีตกร สถาปกร ได้เป็นเหมือนกับรากแก้วของแผ่นดิน ปลูกความหวังไว้ในจิตวิญญาณ รอให้สิ่งเหล่านั้นจากเมล็ดพันธ์กลายเป็นต้นไม้ร้อยอ้อม ฉันใดก็ฉันนั้น กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว กรุงโรมต้องใช้เวลา 3 พันปี”
วันนี้จิตรกรใหญ่ ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างศิลปะไทยร่วมสมัย จากจิตวิญญาณ ลมหายใจ คล้อยร้อยไปกับมือบรรจงตวัดแปรงพู่กัน จุ่มสีน้ำมันลงบนผืนผ้า ได้สร้างสรรค์ภาพเขียนออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นที่ตรึงตาแก่สายตาคนไทยชาวต่างชาติ คงเหลือผลงานที่สร้างทิ้งไว้ให้เป็นอมตะโลกศิลปะ ดังคำที่ท่านได้กล่าวไว้
“...ต้นไม้ (จิตรกร) อาจถูกหักโค่นลงได้ แต่กังหันลม (ผลงาน) ยังอยู่”

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ กล่าวความรู้สึกว่า
“ได้ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่ถวัลย์มาอย่างยาวนาน ได้สัมผัสชีวิตและเผชิญกับสิ่งที่ดีๆ มาด้วยกันทำให้เห็นว่า เราจะหาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่มีจิตสาธารณะเช่นเดียวกับพี่ถวัลย์ได้ยาก ท่านเป็นซุปเปอร์สตาร์ เป็นแบบอย่างของศิลปินที่ประสบความสำเร็จ แล้ว ยังรู้จักที่จะแบ่งบันความรู้ ความคิด และความใส่ใจสู่ผู้อื่น ที่สำคัญ พี่ถวัลย์เป็นคนรักบ้านเกิด รักแผ่นดิน สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม ยอมเสียเวลาอันมีค่าเพื่อเดินสายให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยไม่เคยพร่ำบ่น ทั้งยังกลับกลายเป็นความภูมิใจที่ได้มีโอกาสสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้แก่แผ่นดินไทย”


ประวัติชีวิต ดร.ถวัลย์ ดัชนี
เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน มีบุตรชายคนเดียวชื่อ \"ม่องต้อย\" ดอยธิเบศร์ ดัชนี
การศึกษา นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ ผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่เนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย
ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี ที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ ชายร่างใหญ่ ค่อนข้างเจ้าเนื้อ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ กระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับ นับตั้งแต่อายุ 55 ปี ไม่เคยใส่เครื่องประดับกายชนิดใดเลย รูปลักษณ์ที่ปรากฏแก่คนทั่วไปเช่นนี้เป็นจุดยืนอันเด่นชัดของเขา ที่ไม่ยอมรับแฟชั่นหรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใดๆ
ชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใดๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินดี ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูป จึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่าเป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน
ถวัลย์ ดัชนี มีโภคทรัพย์อันเกิดจากการวาดรูปค่อนข้างมากในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สำหรับถวัลย์แล้ว เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เงินไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก เขายังคงเป็นถวัลย์ ดัชนี ผู้มีชีวิตเรียบง่าย นอบน้อมถ่อมตน ทำงานวาดรูปมากสม่ำเสมออยู่เช่นเดิม ผันเงินส่วนใหญ่ไปทำประโยชน์แก่วงการศิลปะ ทั้งวงการศึกษาและการสร้างสรรค์ เขายังหวังอยู่ว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะให้ความสำคัญแก่ศิลปะและการสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้ตน
เขาทุ่มเทเวลาส่วนมากฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกว่า บ้านดำ นางแล ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิดให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ประกอบด้วยอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือกว่า 25 หลัง และอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลายหลังสำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ถวัลย์ ดัชนีใช้เวลารวบรวมด้วยความตั้งใจมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม
ตลอดระยะ 25 ปีที่ผ่านมา ถวัลย์ ดัชนีอยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชนซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งจัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ด้วยการใช้ดอกผลจากกองทุนนี้สนับสนุนการศึกษาของสถาบันที่ถวัลย์เคยเกี่ยวข้อง ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
จากประวัติชีวิตและผลงานมากมาย แสดงถึงความเป็นศิลปินของถวัลย์ ดัชนี \"ช่างวาดรูป\" ผู้มีพุทธิปัญญาที่นำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปะไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตน มีเนื้อหาสาระและท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงาน เป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถวัลย์ ดัชนี ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ) ประจำปี 2544
(www.thawan-duchanee.com/biography-thai-1.htm)



ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ



07/09/2557