2558 ปฏิรูปการศึกษามาจริง รวมงานการศึกษาเข้ากับงานพัฒนาคน

ปี 2558 ภารกิจที่น่าจะเห็นเป็นรูปธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือการปฏิรูปการศึกษา อยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างกรอบปฏิรูปการศึกษาโดยสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) แต่องค์กรหลักต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ การยกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนหลักสูตรปัจจุบัน พ.ศ. 2551 ซึ่งน่าจะมีการเติมความทันสมัยให้หลักสูตรแกนกลางไทยตามทันโลกในศตวรรษที่ 21 และอาจมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ตามเสียงเรียกร้องจากหลายๆ ฝ่าย

นอกจากนั้น ยังมีโครงการนำร่องการกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้แก่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาใน 20 เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อปูทางสู่การเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ทั้ง 2 โครงการเปิดตัวช่วงปลายปี 2557 และจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังช่วงต้นปี 58 ไฮไลท์สุดๆ ของปีนี้ คือ การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ต้องจับตาดูว่า สุดท้ายแล้ว ศธ.จะแตกออกเป็นกี่กระทรวง

รศ.ประภาภัทร นิยม สปช.ด้านการศึกษา และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า มุมปฏิรูปการศึกษาของ สปช.นั้น จะมองการศึกษาในมิติที่กว้างขึ้น ไม่ได้มองแต่เฉพาะมิติในห้องเรียน แต่มองเป็นเรื่องการพัฒนาคนทั้งระบบตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต คลุกเคล้ากันทั้งมิติด้านการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต

ในมุมมองของ สปช. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ แต่มองว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง รศ.ประภาภัทร บอกว่า จะมีการเสนอให้ตั้งบอร์ดพัฒนามนุษย์ เพื่อเป็นเจ้าภาพดูแลการพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยองค์รวม ขณะเดียวกัน สปช.ด้านการศึกษา ต้องการส่งเสริมการกระจายอำนาจด้วย เพราะเชื่อว่า ปัญหาการจัดการศึกษามาจากการบริการจัดการที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง จึงควรมีการกระจายอำนาจให้พื้นที่และโรงเรียน รวมถึงกระจายอำนาจให้ภาคส่วนเอกชน มาช่วยจัดการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นแนวโน้มการปฏิรูการศึกษาของ สปช.จึงเป็นการผ่าระบบจัดการศึกษา ไม่ใช่ผ่าโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โจทย์ใหม่การศึกษาไทยต้องตอบโจทย์ชีวิต วิชาชีพ และวิชาการ ขณะเดียวกัน รัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพคน ต้องถือว่าการศึกษาเป็นนโยบายสูงสุด และมีความสำคัญในทุกด้าน

“อนาคตการศึกษาไม่ได้อยู่ในมือของกระทรวงศึกษาธิการอีกต่อไปแล้ว เพราะการศึกษาเป็นการสร้างคน ดังนั้น ทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ต้องมาร่วมกันพัฒนาคน สร้างบุคลากรของประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน จะเป็นการพัฒนาการศึกษาในลักษณะข้ามกระทรวงมากขึ้น นอกจากนั้น จะมีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง จะเห็นการทำงาน 4-5 กระทรวง มาร่วมกัน พัฒนาในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน โรงเรียนจะมีความเป็นนิติบุคคล เพื่อให้มีการบริหารหลักสูตรที่ตอบโจทย์คนในชุมชนและความต้องการของเด็กใน แต่ละพื้นที่ ไม่ใช่มาตอบโจทย์หลักสูตรส่วนกลางที่เน้นเฉพาะวิชาการ ไม่ตอบชีวิต ตอบโจทย์การมีงานทำของคนในพื้นที่“

ด้าน รศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกศ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาฯ ไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การตั้งคณะอนุกรรมการ 7 ชุดเพื่อดูแลการปฏิรูปการศึกษานแต่ละด้าน และเป็นกลไกการดำเนินงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปช.

ทั้งนี้ มีความจำเป็นในการวางระบบการผลิตครูที่มีคุณภาพ เพราะการผลิตและพัฒนาครูถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาของไทย โดยนำบทเรียนการผลิตและพัฒนาครูของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จด้านการปฏิรูปการศึกษามาเปรียบเทียบกับการผลิตครูของไทยด้วย ส่วนเรื่องการจัดโครงสร้างของ 3 หน่วยงานใน ศธ. คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นั้นเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดำเนินการให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งต่อไป กำหนดให้มีขึ้นในช่วงบ่ายวันพุธที่ 7 มกราคม 2558 ที่สกศ.

การปฏิรูปการศึกษา จะเป็นอย่างไร อีกไม่นานคงได้รู้กัน


2558 ปฏิรูปการศึกษามาจริง รวมงานการศึกษาเข้ากับงานพัฒนาคน : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย / ชุลีพร อร่ามเนตร


ที่มา:คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 05-01-2558



05/01/2558