"3 เสมา"ลุย 10 เรื่องด่วนการศึกษาไทย

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ก.ย.57 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ ได้เข้าสักการะพระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรี สัฎฐีอนุสรณ์ศึกษาทรรังสรรค์ พระพุทธรูปประจำกระทรวงศึกษาธิการ ศาลพระภูมิเจ้าที่ และพระบรมอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ข้าราชการระดับสูง และข้าราชการ ศธ.ให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง จากนั้นผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5 ได้รายงานการดำเนินงานของ ศธ. และ รัฐมนตรีได้กล่าวตอบและมอบนโยบาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
ต่อมาเวลา 15.00 น. รัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันแถลงถึงนโนบายการศึกษา โดยออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1.นโยบายทั่วไป 5 ข้อ ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษา, การสร้างโอกาสทางการศึกษา, การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร, การยกฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา, การบริหารงานในกระทรวงทุกระดับที่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน
2.นโยบายเฉพาะ 7 ข้อ ได้แก่ การพัฒนาการศึกษาภาคใต้, การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน, การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน, การผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ,พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย, เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการประจำปีงบฯ58,และดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา
และ 3. นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ได้แก่ การช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนที่ประสบอุทกภัย, แก้ปัญหานักศึกษาอาชีวศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท, เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษาเพื่อจูงใจคนมาเรียน, ทบทวนหลักสูตร, ทบทวนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน, ขยายบทบาทภาคเอกชน, ปรับระบบการบรรจุครูและการรัรองมาตรฐานวิชาชีพครู, ทบทวนกิจกรรมรับน้องของสถาบันการศึกษาต่างๆ, ทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศน์นอกสถานศึกษาและดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ผู้บริหารในที่ประชุมรับปาก ว่าจะร่วมมือร่วมใจการขับเคลื่อนงานการศึกษาไปด้วยกัน ทำให้ตนเชื่อว่าหากทุกคนร่วมใจกัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลาไม่นาน ส่วนการแบ่งงานนั้นจะได้ข้อยุติสัปดาห์หน้า โดยอาจจะแบ่งกันดูแลตามองค์กรหลัก ควบคู่กับการดูแลตามเนื้องานในภาพรวมให้เกิดความต่อเนื่อง เช่น หลักสูตร ซึ่งต้องเชื่อมโยงตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา
\"การทำงานใน ศธ. แตกต่างจากการบริหารงานในกองทัพเรือ เพราะกองทัพมีการกำหนดยุทธวิธีที่แน่นอน เช่น การขับเรือ หากขับเรือได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่การศึกษาเกี่ยวกับนักเรียนซึ่งมีชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณ การขับเคลื่อนคนต้องใช้ศิลปะ ซึ่งยากกว่าการขับเรือ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งครู พ่อแม่ สังคม ตนยอมรับว่า หนักใจที่เข้ามาดูงานการศึกษา แต่เมื่อรับหน้าที่แล้วก็จะทำเต็มที่ สุดความสามารถ\" พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเสนอในการขอแยก สำนักงานคณะกรรมการการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย นั้น พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องโครงสร้าง ศธ.เป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญ โดยจะมีการนำมาทบทวนว่า มีปัญหาที่ส่งผลการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เชื่อว่าเรื่องนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็คงจะได้มีการหารือกัน รวมทั้งโครงสร้างของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควรจะกลับไปอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมค่านิยมให้คนมาเรียนด้านอาชีวศึกษา ลดภาพเด็กเกเรมาเป็นอาชีวศึกษาจะสร้างชาติ ไม่ใช่ปริญญาตรีสร้างชาติ ดังนั้นสัดส่วนการรับนักเรียนอาชีวะจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ให้ได้ ส่วนการศึกษาทางไกล ถือเป็นเรื่องที่ตนให้สำคัญ โดยจะเร่งขยายให้ครบทุกโรงเรียนในปีนี้ ก่อน 5 ธ.ค.57 นี้ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านนายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า การแบ่งงานจะลงตัวในสัปดาห์หน้า ส่วนที่มีข่าวว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ และอธิการบดีหลายแห่งติดต่อขอเข้าพบนั้น ขณะนี้มีผู้ติดต่อขอเข้าพบหลายราย แต่ต้องระบุว่ามาพบตนในฐานะใด เช่น อดีตเลขาธิการ สกอ., อดีตอธิการบดี หรือในตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ เพราะหารือจะได้ผลที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การพัฒนางานอุดมศึกษานั้น จะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลคือ ผลิตกำลังคนตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ใช่ผลิตตามความต้องการของผู้เรียน
ขณะที่ พล.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า พร้อมดูแลงานทุกด้านที่ได้รับมอบหมาย และเป็นผู้เสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ ด้วยว่าควรแบ่งงานให้ดูแลตามเนื้องานในภาพรวม


ที่มา:หนังสือพิมพ์สยามรัฐ



13/09/2557