ขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก 9 ปี เป็น 11ปี

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเวทีเสวนา \"ปฎิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน\" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา (สมศ.) ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ผู้แทนสถานศึกษา และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เข้าร่วม โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีความสนใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการปฎิรูปการศึกษา เพราะจากผลประเมินต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ พบว่า การศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ แม้กระทั่งการประเมินทางการศึกษาระดับนานาชาติการศึกษาไทยก็อยู่ในอันดับต่ำ ทั้งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการศึกษาไทยมาโดยตลอด อีกทั้งงบประมาณของประเทศส่วนหนึ่งก็จะทุ่มเทไปให้กับการพัฒนาการศึกษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการศึกษา แต่สาเหตุใดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาถึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาหากพูดถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรามักจะนึกถึงระดับประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา แต่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อระดับการศึกษาปฐมวัย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเท่าที่ทราบสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เตรียมที่จะบรรจุเรื่องการศึกษาปฐมวัยให้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยจะระบุให้เป็นการศึกษาภาคบังคับจากเดิม 9 ปี ตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3 เป็น การศึกษาภาคบังคับ 11 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรืออนุบาล 1- ม.3 ดังนั้นเมื่อบรรจุเป็นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญแล้ว หากผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนตามเกณฑ์ดังกล่าวก็จะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งตนเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก และระบบการศึกษาไทยควรจะทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะจะเป็นเรื่องง่ายหากปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ซึมซับตั้งแต่เด็กเล็ก เนื่องจากเด็กในวัยนี้สอนอะไรก็จะจดจำต่อสิ่งนั้นได้ดี

“ การปฎิรูปการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องเกิดจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนโดยตรง เพราะการปฎิรูปการศึกษาเราไม่ได้วัดผลงานของครู ดังนั้นการปฎิรูปการศึกษาจึงต้องเข้าให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันครูจะต้องปฎิรูปตัวเองเป็นเหมือนศิลปินที่มีศิลปะในการสอนถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ไม่ใช่จะทำหน้าที่เรือจ้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งผมคาดหวังว่าการปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้จะต้องเห็นผลสำเร็จให้ได้” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของศธ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีการหารือ ประเด็นการลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้นักเรียนและครูมีความใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ส่วนจำนวนนักเรียนต่อห้องควรจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ ยังไม่สามารถตอบได้ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด รวมถึงศึกษาจากงานวิจัยต่างๆก่อน

ด้าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า การขยายการศึกษาภาคบังคับลงมาถึงระดับปฐมวัย อีก 2 ปี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมทางการศึกษาตั้งแต่เด็ก โดยตามขั้นตอนแล้วเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศธ.จะต้องดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ 2547 ส่วนจะประกาศใช้ได้เมื่อไหร่นั้น ต้องรอรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ

“ ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้บังคับว่าเด็กทุกคนต้องเรียนระดับอนุบาล แต่สำหรับผู้ที่เข้าเรียนรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้เหมือนระดับการศึกษาอื่นๆ โดยระดับอนุบาล อยู่ที่ 1,700 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น ในอนาคตเมื่อมีการกำหนดให้ระดับอนุบาลเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับ หากผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนก็ถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ของระดับอนุบาลจะต้องมาอายุย่างเข้า 4 ขวบ เพราะฉะนั้นการขยายครั้งนี้จะไม่รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก หรือที่มีเด็กอายุตั้งแต่ 0-3 ขวบ ที่ปัจจุบันอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องนั้น เป็นข้อเสนอของสมาชิก สปช. บางคนที่เห็นว่าจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 30 คนต่อห้อง ซึ่ง สพฐ.เสนอว่าเรื่องนี้ยังดำเนินการไม่ได้ในปีการศึกษา 2558 เพราะได้มีการประกาศนโยบายการรับนักเรียนไปแล้ว แต่จะนำไปศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวจะผูกพันกับงบประมาณ อัตรากำลัง และอาคารสถานที่ด้วย “ ดร.อำนาจ กล่าว.


ที่มา:เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 29 มกราคม 2558 เวลา 13:00 น.



29/01/2558