ยัน ปี 58 ใช้โอเน็ตจบช่วงชั้นสัดส่วน 30%

วันนี้ (18มี.ค.)ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ประกาศผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ชั้น ป.6 ประจำปี 2557 ซึ่งพบว่านักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีผลคะแนนออกมาน่าพึงพอใจ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าปี 2556 โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลัก ได้แก่ วิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนาธรรม มีค่าคะแนนเฉลี่ยจาก 38.31 เพิ่มเป็น 50.67 ภาษาอังกฤษ 33.82 เพิ่มเป็น 36.02 และวิทยาศาสตร์ 37.40 เพิ่มเป็น 42.13 ส่วนวิชาที่ได้คะแนนลดลงจากปี 2556 คือ ภาษาไทยจากค่าคะแนนเฉลี่ย 45.02 เป็น 44.88 และวิชาคณิตศาสตร์ 41.95 เป็น 38.06 ขณะที่นักเรียนที่ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 1 วิชา จำนวน 433 คน และที่ได้เต็มเกิน 1 วิชา จำนวน 85 คน ส่วนผลคะแนนของนักเรียน ม.3 ก็มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความทุ่มเทและการทำงานอย่างหนักของ สพฐ.และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศที่ต้องการยกระดับผลคะแนนโอเน็ตให้สูงขึ้น ส่วนวิชาที่ได้คะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยนั้น สพฐ.จะไปวิเคราะห์หาสาเหตุตามรายเขตพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตามการสอบโอเน็ตในแต่ละปีมีเด็กได้คะแนนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง แต่หากเราต้องการให้เด็กมีคะแนนโอเน็ตสูงขึ้นเท่านั้น เราก็สามารถหลอกตัวเองได้ด้วยการออกข้อสอบง่ายๆให้เด็กทำ ดังนั้นการที่ สทศ.เป็นผู้ออกข้อสอบจึงถือเป็นการทำให้มีมาตรฐาน และผลคะแนนที่ออกมาก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเด็กอยู่ในคุณภาพระดับใด ซึ่งในปีนี้ยอมรับว่าทิศทางการพัฒนาที่ดูจากคะแนนโอเน็ตของ สพฐ.ดีขึ้นแล้ว

ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่กลุ่มเครือข่ายยุวทัศน์ไม่ต้องการให้ใช้คะแนนโอเน็ตมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการตัดสินจบช่วงชั้นนั้น เรื่องนี้ยังรอการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ โดยประเด็นนี้ เป็นหลักคิดเชิงวิชาการที่สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ดังนั้น สพฐ.จะหาทางแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุดอย่างแน่นอน ทั้งนี้ยืนยันว่าในปี 2558 ยังใช้ผลคะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ในสัดส่วน 30% ร่วมกับคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร หรือ จีพีเอเอ็กซ์ 70% แม้ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการจะระบุว่า จะเพิ่มสัดส่วนคะแนนโอเน็ตเป็น 50% ในปีการศึกษา 2558 ก็ตาม เพราะ สพฐ.มองว่า การเพิ่มสัดส่วนลักษณะนี้เป็นการก้าวกระโดดเกินไป เด็กจะเตรียมตัวไม่ทัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการเพิ่มสัดส่วนโอเน็ตสำหรับจบช่วงชั้นนั้น ควรคงสัดส่วนไว้ที่ 30% อย่างน้อย 3 ปี หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนประกาศในการเพิ่มสัดส่วนใหม่ ไม่ใช่ปรับเพิ่มทุกปีแบบก้าวกระโดด เพราะจะทำให้เด็กรับภาระหนัก


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธ 18 มีนาคม 2558 เวลา 16:10 น



18/03/2558