เล็งแก้ พ.ร.บ.อาหารกลางวัน

วันนี้ (31มี.ค.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ปี 2557 โดยกรมบัญชีกลาง พบว่า ประสิทธิภาพการดำเนินโครงการสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยในส่วนของโครงการทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิตเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสร้างผลผลิตมาสนับสนุนอาหารกลางวันนั้น โรงเรียนสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเป็นอาหารกลางวันได้อย่างพอเพียง และสามารถช่วยเหลือนักเรียนในภาวะทุพโภชนาการได้ ขณะที่นักเรียนก็ได้ฝึกทักษะอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้โรงเรียนและนักเรียนได้ด้วย ส่วนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาที่ได้รับงบฯต่อหัวนักเรียนวันละ 20 บาท นั้น โรงเรียนส่วนใหญ่ก็สามารถจัดอาหารได้ครบ 5 หมู่

\"กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันฯ เป็นกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และดูแลสภาพแวดล้อมโภชนาการให้แก่นักเรียน ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนทำ เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างรอบด้านเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งเท่าที่สำรวจข้อมูลพบว่าปัจจุบันภาวะทุพโภชนาการในเด็กลดลงมากแล้ว แต่ยังไม่หมดสิ้นไป ดังนั้น จะต้องมีการสำรวจว่า ยังมีโรงเรียนในพื้นที่ไหนที่ยังมีเด็กมีภาวะทุพโภชนาการอยู่อีก เพื่อให้จัดโครงการให้เข้าไปถึง\"ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจจะตัดคำว่าอาหารกลางวันออก เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างครอบคลุม โดยอาจต้องดูแลเด็กบางกลุ่มถึง 3 มื้อ รวมถึงให้ดูถึงหน่วยงานที่ดูแลด้านการบริหารจัดการด้วย เพราะโครงการนี้ไม่ได้ดูแลเฉพาะนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)เท่านั้น แต่ต้องดูแลระดับประถมศึกษาเด็กสังกัดอื่นด้วย รวมถึงต้องมีการขยายการดูแลเด็กให้ครอบคลุมการศึกษาภาคบังคับ เพราะขณะนี้การศึกษาภาคบังคับขยายถึง ม.3 แล้ว แต่ตอนที่มีพ.ร.บ.ฉบับเดิมการศึกษาภาคบังคับแค่ชั้น ป. 6 ปี


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคาร 31 มีนาคม 2558 เวลา 16:08 น.



31/03/2558