กระทรวงวิทยาศาสตร์ เปิด 18 ห้อง ปั้น "นักวิทย์" คัดหัวกระทิเรียนฟรี-ป.

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เปิด 18 ห้อง ปั้น \"นักวิทย์\" คัดหัวกระทิเรียนฟรี-ป.เอก

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ลงตัวของวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยคือการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ โดยที่ผ่านมานั้นมักจะพบว่านักเรียนระดับหัวกะทิ หรือนักเรียนที่เรียนเก่ง คะแนนสูง ที่เรียนอยู่ในสายวิทยาศาสตร์ ส่วนมากจะเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อไปสอบเข้าเป็นหมอ เป็นเภสัชกร หรือวิศวกร มีจำนวนน้อยมากที่เรียนสายวิทยาศาสตร์เพื่อไปเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ แล้วมุ่งมั่นที่จะออกมาเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ

\"แต่เราก็ไปโทษเด็กไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำให้เด็กเห็นอย่างจริงจังว่า ความจริงแล้วการเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นดีและมีความสำคัญอย่างไรกับสังคมทุกวันนี้ เราไม่ได้ทำให้เด็ก รวมไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก เห็นว่าความจริงแล้วการทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเป็นหมอ เป็นวิศวกรเลย ที่สำคัญคือ ทั้งอาชีพหมอ อาชีพวิศวกร รวมไปถึงเกือบทุกอาชีพ ต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บห้องทดลองทั้งสิ้น เวลานี้ตลาดเพื่อรองรับนักวิทยาศาสตร์ ทั้งของภาครัฐและเอกชนยังมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมากทีเดียว\" ปลัด วท.กล่าว

นายวีระพงษ์กล่าวว่า วท.ได้ทำโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย โดยคณะหรือภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้สนับสนุนและดูแลการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายหรือกำกับของมหาวิทยาลัย เพื่อบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการพัฒนาเป็นฐานนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักประดิษฐ์คิดค้นที่มีคุณภาพในอนาคต โดยจะรับสมัครทั่วประเทศจำนวน 540 คน จัดให้มีห้องเรียน 18 ห้อง มีนักเรียนห้องละ 30 คน แต่ละโรงเรียนจะมีพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษาเป็นภาควิชา หรือคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐในพื้นที่

ปลัด วท.กล่าวว่า โรงเรียนทั้ง 16 แห่งที่จะเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยภาคเหนือ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมี 2 ห้องเรียน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยม ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคกลางและภาคตะวันออกมี 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนดรุณสิขาลัย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงเรียนสาธิตพิบูลย์บำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยบูรพา
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต โดยการดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยศิลปากร ภาคใต้มี 3 โรงเรียน คือ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวน 2 ห้องเรียน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโรงเรียนป่าพะยอมวิทยาคม ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ

\"ผู้มีสิทธิจะเข้าเรียนต้องมีคะแนนสะสมเฉลี่ยทุกวิชาในระดับมัธยมตอนต้นไม่ต่ำกว่า 3 วท.จะให้ทุนการศึกษาจนจบมัธยม และเมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย จะได้รับโอกาสศึกษาต่อปริญญาตรีโดยการรับตรงในคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาให้ต่อจนจบปริญญาตรี และเมื่อจบปริญญาตรี วท.ก็จะมีทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ทั้งในและต่างประเทศ หรือเข้าทำงานเป็นนักวิจัยในหน่วยงานสังกัด วท.ทันที\" นายวีระพงษ์กล่าว และว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจริงจังสำหรับการส่งเสริมให้คนเก่งหันมาประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา

ปลัด วท.กล่าวว่า มีอีกเรื่องสำคัญที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะถึงขั้นต้องแก้กฎหมาย นั่นคือเรื่องการห้ามนักวิทยาศาสตร์ไปสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับนักเรียนชั้นมัธยม ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องนี้ เพราะการจะบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนชั้นมัธยมเพื่อให้ชื่นชอบวิชาวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญและลึกซึ้งในเรื่องนั้นจริงๆ มาถ่ายทอดให้เด็กรับรู้

\"การให้คนที่มีใบประกอบวิชาชีพครูมาสอนวิทยาศาสตร์ หากเขามีความรู้ความสามารถผมก็ไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ไม่ควรห้ามนักวิทยาศาสตร์เข้าไปสอนเด็กในระดับมัธยม เพราะวัยนี้สำคัญมากเลยคือเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ หากได้คนเก่ง คนที่เข้าใจกับงานด้านวิทยาศาสตร์และรู้เฉพาะด้านจริงๆ เข้าไปสอนจะมีประโยชน์กับเด็กอย่างมาก ประเทศที่เจริญแล้วหลายแห่ง โรงเรียนมัธยมหลายแห่งถึงกับทำหนังสือขอเชิญให้นักวิทยาศาสตร์เข้าไปเป็นครูประจำให้เด็กมัธยมของเขา แต่น่าแปลกใจว่าทำไมของเรากลับห้าม เคยมีพรรคพวกที่กระทรวงศึกษาธิการมาหารือกับผมเรื่องนี้ว่าเราน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ ผมว่าจะช่วยอีกแรงในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะมีประโยชน์กับเด็กมากจริงๆ\" ปลัด วท.กล่าว

นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า กรณีที่ทางโรงเรียนต้องการผู้ที่มีความสามารถในสาขาขาดแคลนมาสอนในโรงเรียน อาทิ สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องการเป็นครูจริงๆ ทางโรงเรียนสามารถใช้วิธีจ้างสอนเป็นกรณีพิเศษได้ เช่นเดียวกับการจ้างวิทยากรบรรยายพิเศษทั่วไป ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู


ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 13:15:46 น.



17/08/2557