"การุณ"พอใจสอบ"ครูผู้ช่วย"ผ่านเกณฑ์เกือบ 2 หมื่น

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ใน 111 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จำนวน 44 กลุ่มวิชา โดยมีอัตราว่าง 1,611 อัตรา นั้น ขณะนี้ได้ประกาศผลการสอบครบทุกเขตพื้นที่ฯ แล้ว โดยภาพรวมการสอบครั้งนี้ มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 111,428 คน มีสิทธิสอบ 111,179 คน เข้าสอบ 104,265 คน มีผู้สอบได้ 19,940 คน คิดเป็นร้อยละ 19,12 ของผู้เข้าสอบ
โดยกลุ่มสาขาวิชาที่มีผู้สอบได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือคณิตศาสตร์ 2,549 คน สังคมศึกษา 2,463 คน คอมพิวเตอร์ 2,071 คน ประถมศึกษาและอนุบาล 1,895 คน และภาษาอังกฤษ 1,852 คน ส่วนสาขาที่มีผู้สอบได้น้อยที่สุด 5 อันดับ คือ กายภาพบำบัด 1 คน กิจกรรมบำบัด 2 คน จิตวิทยา 3 คน ดุริยางคศิลป์ 4 คน และช่างยนต์ 5 คน ขณะที่กลุ่มสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ซึ่งมีอัตราว่าง 1 อัตรา เปิดสอบโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 2 ซึ่งมีผู้เข้าสอบ 3 คน แต่ไม่มีผู้สอบผ่าน
ทั้งนี้ หากคิดเป็นเปอร์เซนต์เขตพื้นที่ฯ ที่มีผู้สอบได้มากที่สุด คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สุราษฏร์ธานี เขต1 และเขตพื้นที่ฯ ที่สอบได้น้อยที่สุดคือ สพป.นราธิวาส เขต1 สอบผ่าน 1 คน ส่วน สพป.นราธิวาสเขต 2 ไม่มีผู้สอบผ่าน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า จากผลการสอบดังกล่าวพบว่าบางเขตพื้นที่ฯ มีผู้สอบได้เกินจำนวนอัตราว่างที่มีอยู่ ขณะที่บางเขตพื้นที่ฯมีผู้สอบได้บางกลุ่มสาขาวิชาไม่ครบตามจำนวน หรือไม่มีผู้สอบได้ ดังนั้น สพฐ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่ฯ ให้สามารถขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กำหนดนำรายชื่อผูสอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่ง ไปเป็นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามหนังสือที่ ศธ.0206,6/ว.15 ลงวันที่ 24 ก.ค.58 แต่ทั้งนี้ ต้องผ่านความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ที่มีบัญชีอยู่ว่า จะยอมปล่อยบัญชีหรือผู้รับยินดีรับหรือไม่
\"ดูจากตัวเลขผู้สอบได้กับอัตราว่างแล้ว เชื่อว่าสามารถบรรจุครูผู้ช่วยได้ครบตามจำนวนที่ว่าง เพราะสามารถเรียกบัญชีข้ามเขตได้ ยกเว้นกลุ่มวิชาภาษาเยอรมันที่ต้องมีการสอบใหม่ ส่วนจำนวนผู้สอบได้ทั้งหมดในภาพรวม ซึ่งสอบได้ถึงร้อยละ 19.12 นั้น ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยและสูงเกินที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งที่เหลือจากการเรียกบรรจุจะขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูผลการสอบของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จะมีผู้สอบได้ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้น ผลการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ของ สพฐ.จึงไม่ถือว่าผิดปกติ ส่วนที่บางเขตพื้นที่ฯ มีผู้สอบได้น้อยจะต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุกันต่อไป แต่โดยส่วนตัวคิดว่าข้อสอบที่ออกโดยมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ก็มีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน และครอบคลุมเนื้อหาหลักสูตร ส่วนความยากง่าย ก็ถือว่าอยู่ระดับกลาง ไม่ยากหรือง่ายเกินไป\"
นายการุณ กล่าวและว่า ต้องขอขอบคุณทีมงาน สพฐ.ทุกคนทั้ง ผอ.เขตพื้นที่ฯ และบุคลากร ที่ระดมพลังดำเนินการจัดการสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยึดมั่นในความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม


ที่มา:สยามรัฐ



23/10/2558