การเตรียมความพร้อมทักษะด้านการอ่าน

การอ่านของเด็กเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องโดยเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมวัย การเตรียมความพร้อมทักษะด้านการอ่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูจะต้องฝึกทักษะเฉพาะบางอย่างตั้งแต่ช่วงปฐมวัยก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนในชั้นอนุบาล โดยเด็กควรมีประสบการณ์ในการอ่านผ่านเรื่องราวประสบ การณ์ต่าง ๆ ที่เด็กสนใจ ทั้งการอ่านภาพจากหนังสือนิทาน อ่านเครื่องหมายและอ่านสัญลักษณ์ เมื่อเด็กอยู่ในวัยอนุบาลเด็กวัยนี้จะซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้ง่ายและรวดเร็ว คุณครูควรปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและเคยชินกับการอ่านหนังสือจนพัฒนาเป็นนิสัยรักการอ่าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา ส่งเสริมทักษะการฟัง กระตุ้นจินตนาการและความคิดรวบยอด เป็นการพัฒนาศักยภาพสมองเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน นอกจากนี้ การอ่านยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจอีกด้วย เด็กที่อ่านหนังสือได้ปกติจะมีการทำงานเชื่อมโยงกันของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์และสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา องค์ประกอบพื้นฐานหลักที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือถูกต้อง ได้แก่ การที่เด็กมีจำนวนคำศัพท์มากในสมอง รู้จักเสียงในภาษาสิ่งแวดล้อมของเด็กและการที่เด็กรู้จักตัวอักษรและสัญลักษณ์ จากงานวิจัยพบว่า ถ้าให้เด็กเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่หรือครูโดยตรง เด็กจะเชื่อมโยงความหมายของเสียงกับภาพคำศัพท์ได้ดีกว่าเด็กที่เรียนจากเทปหรือวิดีโอ

นอกจากนี้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูถือว่าเป็นผู้เปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกฝังการรักการอ่านอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัยของเด็ก โดยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การเล่น การพูดคุย เพราะเด็กเรียนรู้จากการเล่น กิจกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กมีจำนวนคำศัพท์มากในสมอง รู้จักเสียงในภาษาสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการอ่านหนังสือ มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่โรงเรียน ดังนั้น พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประสบ การณ์ทางภาษา รวมทั้งสร้างความมั่นใจและให้กำลังใจลูก

พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการทางภาษาของเด็กประกอบด้วย 7 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเปะปะ (แรกเกิด-6 เดือน)

ในระยะนี้เป็นระยะที่เด็กจะเปล่งเสียงที่ยังไม่มีความหมาย เพื่อบอกความต้องการและเมื่อได้รับการตอบสนองจะรู้สึกพอใจ ตัวอย่างเช่น เด็กจะร้องไห้เมื่อรู้สึกหิวหรือเพราะรู้สึกเป็นสุขที่ได้ส่งเสียงออกมา ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ดีของการสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการทางการพูด ในเด็กที่มีสุขภาพดีจะมีโอกาสพัฒนาทางภาษาได้ดีกว่าเด็กที่ไม่สบายหรือเจ็บป่วย

2. ระยะแยกแยะ (6 เดือน–1 ปี)

เด็กจะสามารถแยกแยะเสียงต่าง ๆ ที่เขาได้ยิน เด็กจะเริ่มเลียนเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ถ้าเสียงที่เขาเปล่งออกมาได้รับการตอบสนองในทางบวก เขาก็จะเปล่งเสียงนั้นซ้ำอีก

3. ระยะเลียนแบบ (1–2 ปี)

ในระยะนี้เด็กก็จะเริ่มเลียนเสียงต่างๆ ที่เขาได้ยิน เช่น เสียงพ่อแม่/ผู้ดูแลที่ใกล้ชิด เสียงที่เปล่งออกมาอย่างไม่มีความหมายจะค่อย ๆ หายไป เด็กจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่รับฟังได้มากขึ้น ซึ่งนับว่าพัฒนาการทางภาษาจะเริ่มต้นอย่างแท้จริงที่ระยะนี้

4. ระยะขยาย (2–4 ปี)

เด็กจะหัดพูดโดยจะเริ่มจากการหัดเรียกชื่อ คน สัตว์ และสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง นก แมว หมา ฯลฯ ระยะนี้เด็กจะเริ่มเข้าใจสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ในอายุ 2 ปี เด็กจะเริ่มพูดเป็นคำ พออายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคได้ และเมื่ออายุ 4 ปี เด็กจะเริ่มใช้คำศัพท์ต่าง ๆ

5. ระยะโครงสร้าง (4 – 5 ปี)

ระยะนี้เด็กจะมีความสามารถในการรับรู้และการสังเกตมากขึ้น เด็กจะเริ่มเล่นสนุกกับการคิดคำและประโยคง่าย ๆ ของตนเอง โดยอาศัยการสร้างจากคำ วลี ประโยคที่ได้ยินจากคนอื่น ๆ พูด เด็กจะรู้สึกสนุกกับการเปล่งเสียง โดยอาจจะเล่นเกมกับเพื่อน ๆ หรือสมาชิกในครอบครัว

6. ระยะตอบสนอง (5–6 ปี)

เด็กจะมีความสามารถในการคิดและมีพัฒนาการทางภาษาที่สูงขึ้น ใช้ภาษาจากสิ่งที่เขามองเห็นและรับรู้ที่เป็นแบบแผนมากขึ้น การพัฒนาทางภาษาของเด็กในวัยนี้จะเริ่มใช้ไวยากรณ์อย่างง่ายได้ รู้จักคำที่เกี่ยวข้องกับบ้านและโรงเรียน

7. ระยะสร้างสรรค์ (อายุ 6 ปีขึ้นไป)

เป็นระยะที่เด็กเริ่มเข้าโรงเรียน เด็กจะเล่นสนุกกับคำ และหาวิธีสื่อความหมายด้วยตัวเลข ในระยะนี้เด็กจะพัฒนา วิเคราะห์และสร้างสรรค์ทักษะในการสื่อความหมาย มีการใช้ถ้อยคำสำนวนการเปรียบเทียบ และภาษาพูดที่เป็นนามธรรมมากขึ้นทักษะพื้นฐานด้านการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย

ทักษะหลาย ๆ ด้านสามารถเรียนรู้ได้โดยธรรมชาติในระหว่างการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน พ่อแม่จะสามารถช่วยลูกในการพัฒนาทักษะนี้ โดยการพูดคุยและการอ่านหนังสือด้วยกัน การเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย ที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้ได้ มีดังนี้

1. การจับคู่ (Matching) พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับการจับคู่ระหว่างรูปร่าง รูปแบบตัวอักษรและคำพูด คุยกับลูกเรื่องเกมการจับคู่ เช่น จับคู่บัตรภาพกับตัวอักษร เมื่อลูกดูบัตรภาพแล้วให้ออกเสียงเรียกชื่อบัตรภาพนั้น และบอกตัวอักษรที่ตรงกับบัตรภาพพร้อมกัน

2. เสียงสัมผัส (Rhyming) สอนเรื่องการบอกคำที่จบด้วยเสียงที่เหมือนกัน เล่นเกมกับลูกโดยให้บอกคำที่มีเสียงเหมือนกัน เล่นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน หรือชักชวนให้ลูกร้องเพลง ต่อเพลงง่าย ๆ ที่ลูกสามารถร้องได้

3. ทักษะเกี่ยวกับตัวอักษร (Letter skills) สอนให้ลูกจดจำรูปร่างของตัวอักษรและเสียงของตัวอักษร ให้ลูกสังเกตตัวอักษรจะช่วยให้ลูกจำได้ดีขึ้นและออกเสียงตัวอักษรนั้นให้ลูกฟัง เช่น ตัวอักษรจากหนังสือ ก ข ค หรือ A B C แม่เหล็กตัวอักษรบล็อกหรือภาพตัดต่อ(puzzles) ที่เป็นตัวพยัญชนะ แผ่นภาพพยัญชนะ หรือของเล่นเด็กที่กดแล้วมีเสียงเป็นคำอ่าน แล้วให้ลูกพูดตาม อ่านหนังสือกับลูก โดยพ่อแม่ชี้นิ้วไล่ไปตามคำที่อ่าน

4. ทิศทาง (Direction) สอนเรื่องตัวอักษรเรียงจากด้านซ้ายไปด้านขวา วิธีการอ่านหนังสือต้องเริ่มจากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง

5.ทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Motor skills) การฝึกเขียนตัวอักษรและคำต่าง ๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับการอ่านได้ดีขึ้น สอนให้ลูกฝึกเขียนตัวอักษรและคำ โดยเลือกใช้ดินสอที่เหมาะกับมือของลูก จะช่วยให้เขาควบคุมการเขียนได้ดี เล่นกับลูกโดยใช้กิจกรรมที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อมือ เช่น การขยำ การบีบ การฉีก การตัด

6.ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับภาพพิมพ์ (Concepts of print) สอนเรื่องวิธีการใช้หนังสือว่าต้องเปิดจากขวาไปซ้าย รูปภาพที่แสดงเป็นรูปประกอบคำในหนังสือนั้น เนื้อเรื่องมีการเริ่มต้น กลางเรื่องและตอนจบ ขณะอ่านอาจใช้คำถามเพื่อให้ลูกมีส่วนร่วม หรือพาลูกไปร้านหนังสือในวันหยุดให้เขาได้เลือกซื้อหนังสือที่เขาสนใจและเหมาะสมกับวัย หลังการอ่านถามคำถาม เพื่อให้ลูกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่าน

7.ทักษะด้านภาษา (Language skills) พ่อแม่ควรทราบว่า ยิ่งลูกมีประสบการณ์เกี่ยวกับภาษามากก็ยิ่งทำให้ลูกเรียนรู้การอ่านได้ง่ายขึ้น พ่อแม่จะช่วยให้ลูกมีทักษะด้านภาษาได้โดยการให้เขามีส่วนร่วมในการฟัง และพูดคุยสนทนาทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็กด้วยกัน เพื่อให้ลูกได้พบเจอกับคำศัพท์ที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน รู้จักการใช้คำที่เหมาะกับคู่สนทนา ฝึกให้ลูกฟังเรื่องเล่าหรือบทกวีต่าง ๆ เป็นต้น

ข้อมูลจาก ข่าวสาร กรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 ฉบับที่ 249 เดือนกันยายน 2557

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์



ที่มา:หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันอาทิตย์ 16 พฤศจิกายน 2557 เวลา 00:00 น.



16/11/2557