ขรก.เฮ สนช. ฉลุย ผ่านกม.ขึ้นเงินเดือน

เมื่อเวลา 10.20 น.วันที่ 19 มีนาคม มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธาน โดยได้แจ้งให้สมาชิกว่า เนื่องจากการประชุมในวันนี้ (19มี.ค.) มีวาระการพิจารณากฎหมายและเรื่องอื่นๆจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งรายงานการชี้มูลความผิดของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยส่อว่าทุจริต ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติทำให้เกิดความเสียหาย จากกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตนได้นัดประชุมนัดแรกในวันที่ 2 เมษายน เพื่อนัดวันแถลงเปิดคดี และเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้เสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติม และตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไปเพื่อให้สมาชิกรับเอกสารประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชุด ประกอบด้วยชุดที่ 1จำนวน 479 หน้า และชุดที่ 58,000 หน้า ส่วนสมาชิกคนใดต้องการยื่นญัตติซักถาม ก็สามารถยื่นได้ก่อนการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งจะได้การนัดประชุมต่อไป

จากนั้น เข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องด่วน ได้แก่
- ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ....
- ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ....
- ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่....) พ.ศ... และ
- ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ... ) พ.ศ...

ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือน การปรับอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมเป็นธรรม และได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป และเพื่อแก้ไขปัญหาบางประเด็นอย่างเร่งด่วน โดยไม่เกี่ยวกับระยะยาวที่อาจต้องปรับทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีมีสมาชิกคนใดอภิปราย ที่ประชุมจึงได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยเอกฉันท์ ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่ 6ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนและตารางข้อผูกพันเฉพาะสำหรับการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

โดยพิธีสารฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลด/ยกเลิกข้อจำกัดที่เป็น อุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งได้ปรับปรุงตารางข้อผูกพันเฉพาะ (Schedule of Specific Commitments: SOC) ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาประกันภัย และสาขาการธนาคาร

โดยในสาขาประกันภัยได้ปรับเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติของบริการนายหน้าและตัวแทน ใน Mode 3 (การจัดตั้งธุรกิจ) จากเดิมที่จำกัดไว้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของทุนจดทะเบียน เป็นร้อยละ ๔๙ ของทุนจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน ส่วนสาขาการธนาคารปรับปรุงตารางข้อผูกพัน สาขาย่อยธนาคารพาณิชย์ใน Mode 3 ให้สอดคล้อง กับกฎหมายและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน ยกเลิกข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรสำหรับบุคคลสัญชาติอาเซียน (Mode 4) โดยให้เป็นไปตามแผนของธุรกิจ แต่ยังต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14:37:53 น



19/03/2558