ข้อเท็จจริง 10 ปีระบบ ข้าราชการไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการอนุมัติขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเฉลี่ย 6.5% โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็เพิ่งมีการปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นคนละอย่างน้อย 4%และขยายเพดานเงินเดือนอีก 10% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล

เพื่อให้เงินเดือนของข้าราชการสะท้อนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี2554และครั้งนี้จะเป็นการปรับครั้งที่6 ในรอบ 10 ปี

สิบปีที่ผ่านมา ระบบข้าราชการไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ขอสรุปเป็น 6 ข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

1.ปัจจุบันฐานเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ต่ำอย่างที่คิดอีกต่อไป

จากที่เมื่อสิบปีที่แล้วเงินเดือนแรกเข้าของข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเคยคิดเป็นเพียง2ใน3 ของเงินเดือนแรกเข้าพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน แต่ปัจจุบัน ข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้า สูงกว่า พนักงานเอกชนโดยเฉลี่ยราว 10% เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีให้ได้15,000 บาทต่อเดือน

2.จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

ขณะนี้กำลังคนภาครัฐอยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน หลังจากที่มีการริเริ่มการปฏิรูประบบราชการ โดยการปรับลดกำลังคน ผลคือจำนวนข้าราชการประจำแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยจากสิบปีที่แล้ว แต่ที่เพิ่มขึ้นมาก

คือลูกจ้างรัฐ และพนักงานรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า บางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงาน มากกว่า ข้าราชการประจำ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้าราชการประจำเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่มีลูกจ้างและพนักงานของรัฐร่วม 50,000 คนเป็นต้น

3.ข้าราชการตั้งแต่ซี 9 ขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

ในขณะที่ข้าราชการตั้งแต่ซี 9 ขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า แต่จำนวนข้าราชการประจำโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มกระทรวงใหม่ 6 กระทรวง ทำให้มีกรมเพิ่มขึ้นกว่า 40 กรมเป็น 168 กรม เมื่อปี 2545 ส่งผลให้ภาครัฐสุ่มเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ

4.งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเมื่อสิบปีก่อน

ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากร รวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่น ๆ อย่างค่ารักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐ

5.งบบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นถึง6เท่าจากเมื่อสิบปีก่อน

ในขณะที่จำนวนกำลังคนภาครัฐในระดับท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตามจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

6.เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย

งบบุคลากรภาครัฐของไทย เป็นรองจากบาห์เรน และมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%)

แล้วงบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่องานของภาครัฐในสิบปีที่ผ่านมาอย่างไร?

ประสิทธิภาพของรัฐบาลแย่ลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งจากผลการวิจัยของ ธนาคารโลก พบว่า ความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศ ตกลงจากอันดับ 65 เมื่อสิบปีก่อน นอกจากนี้จากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจของ World Economic Forum (WEF) ตั้งแต่ปี 2551- 2556 พบว่าความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ เป็น 1 ใน 5 ของปัจจัยที่เป็นปัญหาในการทำธุรกิจในประเทศไทย

ปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐก็แย่ลงเช่นกัน

จากผลวิจัยของธนาคารโลกเช่นเดียวกันพบว่าไทยตกลงจากอันดับ91เมื่อสิบปีก่อนมาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ หรือถ้าหากดูจากดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ก็ร่วงจากอันดับ 70 เป็นอันดับ 102 จาก 174 ประเทศ WEF จัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92)


การปฏิรูประบบราชการจะต้องเป็นวาระที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

และที่สำคัญ ต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปด้านอื่น ๆ สำเร็จได้ และตอนนี้จะเป็นโอกาสที่ดี เพราะจะมีข้าราชการราว 40% จะเกษียณอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า จึงควรเริ่มจากขนาดกำลังคนที่เล็กลง ปรับปรุงประสิทธิภาพและความโปร่งใส ตรวจสอบได้เช่น ลดจำนวนตัวชี้วัด แต่ให้เชื่อมโยงกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (Pay for Performance)

ซึ่งถ้ามาตรการต่าง ๆ ได้ผลจริง การปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการให้สูงขึ้น ก็จะไม่เป็นปัญหา ตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในเรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐ และความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่จ่ายเงินเดือนข้าราชการสูงเช่นกัน

โดยให้เหตุผล เพื่อเป็นการดึงดูดและรักษาคนเก่งให้อยู่ในระบบราชการ รวมทั้งเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นด้วย โดยกำหนดให้เงินเดือนข้าราชการอาวุโสต้องเทียบเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานเอกชน ที่ได้รายได้สูงสุดใน 6 สาขาอาชีพหลัก ในขณะที่ภาระงบบุคลากรต่อจีดีพีของสิงคโปร์นั้น ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 09:00:03 น.



07/04/2558