ครั้งแรกของ"ไทย"..เจ้าภาพคณิตโอลิมปิก IMO 2015

\"ไทย\" เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันคณิตโอลิมปิกระหว่างประเทศ IMO 2015 ระหว่างวันที่ 4-16 ก.ค.58 นี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ \"สมเด็จพระเทพฯ\" ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา พร้อมทรงเสด็จฯ เป็นประธานเปิดงาน 9 ก.ค. สสวท.หวังกระตุ้นทุกภาคส่วนตื่นตัว ผลักดันการเรียนการสอนวิทย์-คณิต-เทคโนโลยี
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.58 ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถลงข่าวว่า สสวท.พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามมาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 56 หรือ International Mathematical Olympaid : IMO 2015 ระหว่างวันที่ 4-16 ก.ค.58 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
โดยมีผู้เข้าแข่งขันและร่วมสังเกตการณ์กว่า 1,000 คน จาก 100 ประเทศทั่วโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน อังกฤษ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี แม็กซิโก ฝรั่งเศส เป็นต้น ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในวิชาคณิตศาสตร์ โดยวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา โดยโอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 9 ก.ค.58 ที่ มช.ด้วย
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สสวท.กล่าวว่า การแข่งขัน IMO 2015 ครั้งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของ สสวท.ในการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่ง สอวน.ใช้เวลาราว 1 ปีเพื่อคัดเลือกนักเรียนนักหมื่นคนให้เหลือเพียง 23 คนเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน ขณะที่ สสวท.พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมทุกด้าน มีการศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งของนักเรียนไทย และพัฒนาเพื่อให้เด็กไทยมีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก ตนเชื่อว่าการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน IMO 2015 คราวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยและทุกภาคส่วนตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในวิชาเหล่านี้ ว่าสามารถเชื่อมโยงความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคราวนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่นักเรียนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนนักเรียนจากนานาประเทศด้วย
ผศ.รจิต วัฒนสินธุ์ นายกสมาคมคณิตศาสตร์ฯ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในด้านวิชาการนั้น ประกอบด้วย 4 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ฝ่ายคัดเลือกโจทย์ ซึ่งจะทำการคัดเลือกโจทย์ให้เหลือประมาณ 30 ข้อจากโจทย์ที่ประเทศต่างๆ ส่งมาให้คัดเลือกประมาณ 150 ข้อ ฝ่ายพิจารณาตัดสินทางวิชาการ มีหน้าที่ประชุมพิจารณาเรื่องทางวิชาการตลอดช่วงที่มีการแข่งขันโดยมีหัวหน้าทีมจากทุกประเทศเข้าร่วม ฝ่ายตรวจสอบการให้คะแนน จะมีการจัดเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากในการตรวจสอบการให้คะแนนแต่ละข้อของผู้เข้าแข่งขันกว่า 500 คน และฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนวยความสะดวกด้านไอทีตลอดการแข่งขัน


ที่มา:สยามรัฐ Mon, 11/05/2015 - 16:53



16/07/2558