ด่วน ! พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับใหม่

ด่วน ! พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับใหม่ ประกาศใช้แล้ว 5 ธ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ ๕ ธันวาคม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗ จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่องค์ประกอบของคณะกรรมการ ตุลาการศาลปกครองที่ผ่านมาได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ดูกฎหมายที่นี่

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง(ฉบับที่๗) พ.ศ. ๒๕๕๗ มีจำนวน ๑๔ มาตรา

มาตราที่สำคัญ คือ มาตรา ๓ ที่บัญญัติ ว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๕ ให้มีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.ศป.” ประกอบด้วย

(๑) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนเก้าคน ดังนี้

(ก) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนหกคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
(ข) ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจำนวนสามคนซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น
(๓) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เป็นตุลาการศาลปกครองจำนวนสามคน ดังนี้
(ก) ผู้ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน
(ข) ผู้ซึ่งได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งคน

ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นเลขานุการของก.ศป.และให้ ก.ศป. แต่งตั้งข้าราชการ ฝ่ายศาลปกครองจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

และ มาตรา ๑๑ ที่บัญญัติว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

“มาตรา ๔๑/๑ กรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๓) หรือมีแต่ไม่ครบสามคน ถ้ากรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคน เห็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้กรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบ และองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้”

มาตรา ๑๒ ให้กรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อน วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่า จะครบวาระในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการ ตุลาการศาลปกครองดังกล่าวเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในระหว่างวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้มีการเลือกซ่อมกรรมการตุลาการศาลปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตุลาการศาลปกครองแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้มีการเลือกซ่อมแล้ว ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ประกอบด้วยกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกซ่อมนี้ด้วย

ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลงเพราะครบวาระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ประธานศาลปกครองสูงสุดแจ้งต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ เพื่อดำเนินการเลือกให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และเมื่อได้มีการเลือกแล้ว ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้เลือกนี้ด้วย


ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เวลา 17:20:29 น.



05/12/2557