ตื่นตา!จุฬาฯ เปิดตัวไส้เดือนพันธุ์ไทย50ชนิด-ปลิงควาย-ตะขาบม่วงสิมิลัน

จุฬาฯ เปิดไส้เดือนสายพันธุ์ไทยกว่า 50 ชนิด และการค้นพบไส้เดือนชนิดใหม่ รองรับภาคเกษตรกรรม และการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดตัวปลิงควายและตะขาบม่วง สิมิลัน ตะขาบหน้าใหม่แห่งวงการชีววิทยา

วันที่ 7 ตุลาคม ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(จุฬาฯ) และ ศ. นพ. สุทธพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศ. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวไส้เดือนสายพันธุ์ของไทยกว่า 50 สายพันธุ์ และไส้เดือนชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ ที่พบในระบบนิเวศที่หลากหลายของไทย การค้นพบนี้เป็นผลมาจากการสนับสนุนของจุฬาฯ และสกว. เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติกส์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดินได้แก่หอยทาก กิ้งกือ ตะขาบ และไส้เดือนอย่างต่อเนื่อง

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างและศึกษาไส้เดือนทั่วประทศไทยพบว่าจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบ และยืนยันแล้วกว่า 50 สายพันธุ์ และคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ไส้เดือนชนิดที่โดดเด่นได้แก่ไส้เดือนยักษ์แม่น้ำโขง Amynthas maekongianus พบที่ริมชายหาดแม่น้ำโขงหลายพื้นที่สองฝั่งโขงของไทยและลาว มีบทบาททำให้ดินบริเวณแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร ไส้เดือนขี้ตาแร่ Metaphire peguana พบทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ขี้คู้ Metaphire posthuma ไส้เดือนแดง Perionyx excavatus ไส้เดือนคันนาสกุล Drawida ที่พบในระบบนิเวศป่าแบบต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศทางการเกษตร เกษตรกรนำไส้เดือนบางสายพันธุ์มาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ไส้เดือนชายหาด Pontodrilus littoralis ทำหน้าที่เป็นเทศบาลที่ชายหาดทรายทางทะเล กำจัดสิ่งปฏิกูลในหาดทราย ทำให้หาดทรายมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย สะอาด เป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีของคนไทย

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาคณะนักวิจัยได้ค้นพบไส้เดือนชนิดใหม่ในประเทศไทยมากกว่า 20 สายพันธุ์ ชนิดที่โดดเด่นน่าสนใจ ได้แก่ 1.ไส้เดือนยักษ์สุรินทร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas arenulus Bantaowong & Panha, 2014 เป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ 1-2 ซม. ยาวประมาณ 30-40 ซม. ตัวใหญ่สุดมีความยาวเกือบ 50 ซม. พบครั้งแรกที่จ.สุรินทร์ โดยอาศัยอยู่ตามคันนาในดินร่วนปนทราย ที่ระดับความลึกประมาณ 20-30 ซม. 2.ไส้เดือนยักษ์ท่าคันโท มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas thakhantho Bantaowong & Panha, 2014 มีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 30-40 ซม. ที่น่าสนใจคือไส้เดือนชนิดนี้ถ่ายมูล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ขุยไส้เดือน” มีลักษณะเป็นหอคอยสูง 20-30 ซม. กระจายอยู่เต็มพื้นที่สวนของเกษตรกรที่อำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ 3.ไส้เดือนป่าเต็งรังชัยภูมิ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas longicaeca Bantaowong & Panha, 2014 ชนิดนี้พบอาศัยอยู่ในป่าเต็งรังที่จ.ชัยภูมิ มีขนาดลำตัวประมาณ 1 ซม. ยาว 20-30 ซม. เป็นต้น

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ของตะขาบที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว พม่า และมาเลเซีย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2554 และได้ค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย จากหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยตะขาบชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์จากพระองค์ท่านว่า Sterropristes violaceus Muadsub and Panha, 2012 หรือ ตะขาบม่วงสิมิลัน โดยคำว่า “violaceus” ในชื่อวิทยาศาสตร์หมายถึงสีม่วงของลำตัวตะขาบซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านโดยการค้นพบครั้งนี้ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติตะขาบม่วงสิมิลันนี้พบอาศัยอยู่บนหมู่เกาะในทะเลอันดามันเท่านั้น

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบปลิงควาย จ.นครพนม ปลิงควายที่คนไทยรู้จักกันดีจัดอยู่ในสกุล Hirudinaria ซึ่งสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และปลักควาย เป็นต้น จากการจัดจำแนกปลิงน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยใช้ลักษณะลำตัวภายนอก และอวัยวะภายใน พบว่ามี 2 ชนิดที่พบได้ทั่วไปคือ Hirudinaria manillensis (Lesson, 1842) Hirudinaria javanica (Wahlberg, 1856 ) และชนิดที่ยังจำแนกไม่ได้คือ Hirudinaria sp. ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันด้วยวิธีตรวจดีเอ็นเอ และโครโมโซมว่าเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่จริง โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว



ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:20:54 น






08/10/2557