ทำไม กู้กองทุนช.พ.ค. ต้องทำ ′ประกันภัย′

ทําเอาวงการแม่พิมพ์ไทย \"ช็อก\" อีกครั้ง เมื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่ง \"อายัด\" ทรัพย์สินอดีตผู้บริหาร คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก และ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด 146 รายการ มูลค่า 183 ล้านบาท (ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี) ตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542

โดยในส่วนของอดีตผู้บริหาร สกสค.และกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) ประกอบด้วย นายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขาธิการ สกสค., นายสุรเดช พรหมโชติ อดีตรองเลขาธิการ สกสค. และนายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค.

งานนี้หลายคนเกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีรายชื่อผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่คนใด ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริตครั้งมโหฬารหรือไม่!!

อีกข่าวคราวหนึ่งที่เพื่อนๆ ครูสนใจไม่แพ้กัน คือการ \"ปล่อยกู้\" ของ \"กองทุน ช.พ.ค.\" ภายหลัง นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และตัวแทนครูกลุ่มหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบการหักเงินเพื่อนำเข้ากองทุน ช.พ.ค.โดยตรวจสอบโครงการปล่อยกู้ของ ธนาคารออมสิน และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับทำประกันสินเชื่อกลุ่มครูที่กู้เงินจากโครงการ ทั้งการทำประกันภัยโดยไม่มีกรมธรรม์ การหักค่าเบี้ยประกันภัยในครั้งเดียวเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี เป็นต้น

เรื่องนี้ นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้แจกแจงข้อสงสัยในการรับทำประกันกลุ่มครูตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.โดยใช้ชื่อ \"กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย\" ว่าดำเนินการมา 5 ปีแล้ว

ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยประกันผู้กู้ที่มีวงเงินตั้งแต่ 600,000-3,000,000 บาท คิดเบี้ยประกัน 620 บาท ต่อวงเงินความคุ้มครอง 100,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด 15%

ส่วนสาเหตุที่ผู้กู้เงินต้องมีประกัน เพราะเดิมการขอกู้เงินต้องรวมกลุ่มย่อยเพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน แต่หากมีระบบประกันภัย เมื่อผู้กู้เสียชีวิต จะไม่ทิ้งภาระไว้ให้ผู้ค้ำประกันและทายาท การทำประกันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้กู้ และทำให้ได้รับอนุมัติวงเงินกู้ที่สูงขึ้นได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การทำประกันสินเชื่อจะเป็นไปตามความสมัครใจของผู้กู้และเงื่อนไขการกู้

แต่เมื่อทำประกันแล้วจะยกเลิกกรมธรรม์ได้หรือไม่นั้นนายสมพรระบุว่าทำได้ เนื่องจากกรมธรรม์เป็นการประกันภัยเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่ผู้เอาประกันเป็นผู้กู้เงิน โดยธนาคารออมสินเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นลำดับแรก แต่การยกเลิกอาจทำให้ทายาทของผู้กู้และผู้ค้ำประกันเดือดร้อน และเงื่อนไขการกู้อาจเปลี่ยนแปลง

สำหรับ \"ข้อดี\" หรือ \"จุดเด่น\" ของการทำกรมธรรม์ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทประกันชีวิตทั่วไป ได้แก่ บริษัทจะรับประกันทุกราย โดยไม่ตรวจสุขภาพ เบี้ยประกันคงที่ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ทุนประกันคงที่ตลอดอายุสัญญา แม้ภาระหนี้ลดลง เบี้ยประกันไม่แยกตามเพศ จ่ายสินไหม 100% กรณีโคม่าและเสียชีวิต และคุ้มครองถึงอายุ 74 ปี ขณะที่ประกันชีวิตทั่วไปรับอายุไม่เกิน 60 ปี

ส่วนความคุ้มครองการเสียชีวิตจะครอบคลุมกรณีเกิดจากอุบัติเหตุและสุขภาพ หรือเสียชีวิตจาก 4 โรคร้ายคือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคภาวะโคม่า โรคภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และโรคภาวะสมองตายระบบประสาทล้มเหลว หากผู้กู้เสียชีวิต ทางทิพยประกันภัยจะชำระหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระกับธนาคารออมสินทั้งหมด หากมีเงินเหลือเนื่องจากผู้กู้ได้ผ่อนชำระเงินให้กับธนาคารไปส่วนหนึ่งแล้ว ทางธนาคารจะส่งคืนให้ทายาทต่อไป

กรณีผู้กู้บางรายมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกกรมธรรม์ และบางรายระบุว่าไม่เคยได้รับกรมธรรม์นั้น ได้รับคำอธิบายว่า เนื่องจากเป็นประกันกลุ่ม จึงได้ออกกรมธรรม์ 2 ฉบับ เพื่อให้ธนาคารออมสินในฐานะเจ้าหนี้ 1 ฉบับ และ สกสค.ในฐานะที่ดูแล ช.พ.ค.อีก 1 ฉบับ ส่วนตัวผู้กู้จะได้ใบสรุปเงื่อนไขความคุ้มครอง แต่หากต้องการกรมธรรม์ฉบับจริง ให้แจ้งทิพยประกันภัยได้

ส่วนที่ผู้กู้บางคนข้องใจเกี่ยวกับการเก็บเบี้ยครั้งเดียวล่วงหน้ายาวถึง 9 ปีนั้น นายสมพรกล่าวว่า ทำได้ตามจำนวนปีที่ขอสินเชื่อ โดยบริษัทประกันชีวิตสามารถเก็บเบี้ยประกันสินเชื่อล่วงหน้าครั้งเดียวได้สูงสุด 30 ปี แต่กรณีทิพยประกันภัยได้รับการอนุมัติให้เก็บเบี้ยได้สูงสุดครั้งเดียว 9 ปี หากชำระหนี้ครบก่อน 9 ปี ขอเบี้ยคืนได้ในส่วนที่ชำระเกิน หรือหากชำระหนี้ไม่หมดภายใน 9 ปี สามารถต่ออายุได้ แต่ผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 74 ปี

ผู้บริหารทิพยประกันภัยฯ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า \"บริษัททำประกัน 5 ปี มีสมาชิก ช.พ.ค.ที่ทำประกันภัยเสียชีวิตแล้ว 7,000 ราย ซึ่งค่อนข้างสูง เพราะกลุ่มครูที่ทำประกันอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี และบริษัทได้จ่ายสินไหมทดแทนไปแล้ว 6,500 ล้านบาท\"

ล่าสุด นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้เตรียมเสนอให้ \"ชะลอ\" การปล่อยกู้สำหรับผู้กู้รายใหม่ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกู้ยืมต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรม และสบายใจกันทุกฝ่าย


ที่มา:มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 17:39:09 น.



10/06/2558